ค่ายบุรฉัตร  
   

                  ตัวอักษรคำว่า “ ค่ายบุรฉัตร” สีทองที่ปรากฏอยู่บนแผ่นหินขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนเนิน ดินสูง ปกคลุมด้วยหญ้าเขียวขจี ด้านหน้าของป้ายมีสวนหย่อมงดงามพร้อมด้วยน้ำพุ โดยมีอาคาร ๒ ชั้นสีขาวเป็นฉากหลังที่เห็นอยู่นั้น ดูงดงามและสะดุดตาผู้คนที่ผ่านไปมาบนเส้นทางสาย ราชบุรี - จอมบึงอยู่ไม่น้อย ค่ายแห่งนี้เป็นที่ตั้งของหน่วยกองพลทหารช่าง เดิมเรียกว่า ค่ายภาณุรังษี ส่วนที่ ๒ แต่วันนี้ได้รับพระราชทานนามค่ายใหม่ว่า “ค่ายบุรฉัตร” อันเป็นพระนามเดิมของพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร หรือพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้ทรงมีคุณูปการแก่เหล่าทหารช่างอย่างมากมาย จนได้รับการสถาปนาว่าเป็น   “ พระบิดาแห่งเหล่าทหารช่าง ”
                   กองพลทหารช่าง ประกอบด้วยหน่วยขึ้นตรงและหน่วยในพื้นที่เป็นจำนวนมาก กว่าจะมาถึงวันนี้หลายหน่วยก็ได้ผ่านประสบการณ์มากมาย ก่อนจะแปรสภาพมาเป็นหน่วยในปัจจุบัน
                   หากจะนับวันเวลาย้อนกลับไปก็คงจะต้องเริ่มต้นกันที่ ๒๓ มิ.ย.๒๔๑๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองทหารอินยิเนียร์ขึ้น
                   พ.ศ.๒๔๔๗ แปรสภาพกองทหารอินยิเนียร์เป็น กรมทหารช่าง มีกำลัง ๑ กองร้อย
                   พ.ศ.๒๔๔๙ กรมทหารช่างได้รับการสถาปนาเป็นกรมทหารช่างที่ ๑ รักษาพระองค์ จัดกำลังเป็น ๒ กองร้อย คือ กองร้อยช่างสะพาน และกองร้อยช่างสัญญาณ
                   พ.ศ.๒๔๕๑ จัดให้มีกองทหารช่างประจำตามกองพลทหารบกต่าง ๆ ทั่วพระราชอาณาจักร
                        ๑. กรมทหารช่างรักษาพระองค์ ขึ้นอยู่กับกองพลที่ ๑ จังหวัดพระนคร
                        ๒. กองทหารช่างที่ ๔ ขึ้นอยู่กับกองพันพิเศษ กองพลที่ ๔ มณฑลราชบุรี
                        ๓. กองทหารช่างที่ ๕ ขึ้นอยู่กับกองพันพิเศษ กองพลที่ ๕ มณฑลนครราชสีมา
                        ๔. กองทหารช่างที่ ๖ ขึ้นอยู่กับกองพันพิเศษ กองพลที่ ๖ มณฑลนครสวรรค์
                        ๕. กองทหารช่างที่ ๗ ขึ้นอยู่กับกองพันพิเศษ กองพลที่ ๗ มณฑลพิษณุโลก
                        ๖. กองทหารช่างที่ ๙ ขึ้นอยู่กับกองพันพิเศษ กองพลที่ ๙ มณฑลปราจีนบุรี
                   พ.ศ.๒๔๕๒ มีการยุบรวมกองทหารช่างจากกองพลต่าง ๆ จัดตั้งเป็นกรมทหารช่าง ดังนี้
                        ๑. กรมทหารช่างที่ ๑ จังหวัดพระนคร มี นขต. คือ กองร้อยทหารช่างสนาม กองร้อยทหารช่างรถไฟ และกองร้อยทหารช่างสะพาน
                        ๒. กรมทหารช่างที่ ๒ จังหวัดอยุธยา มี นขต. คือ กองร้อยทหารช่างสนาม กองร้อยทหารช่างรถไฟ และกองร้อยทหารช่างสะพาน
                   พ.ศ.๒๔๕๓ ตั้งแผนกจเรทหารช่างขึ้นในกระทรวงกลาโหม และตั้ง รร.ฝึกหัดการช่างทหาร ขึ้นตรงต่อกรมจเรทหารช่าง สังกัด กรมยุทธนาธิการ
                   พ.ศ.๒๔๕๔ หน่วยทหารช่างได้จัดกำลังเป็น ๖ หน่วย คือ
                        ๑. กรมทหารช่างที่ ๑ อยู่จังหวัดพระนคร
                        ๒. กองทหารช่างที่ ๔ ขึ้นตรงกับกองพันพิเศษ กองพลที่ ๔ มณฑลราชบุรี
                        ๓. กองทหารช่างที่ ๕ ขึ้นตรงกับกองพันพิเศษ กองพลที่ ๕ มณฑลนครราชสีมา
                        ๔. กองทหารช่างที่ ๖ ขึ้นตรงกับกองพันพิเศษ กองพลที่ ๖ มณฑลนครสวรรค์
                        ๕. กองทหารช่างที่ ๗ ขึ้นตรงกับกองพันพิเศษ กองพลที่ ๗ มณฑลพิษณุโลก
                        ๖. กองทหารช่างที่ ๙ ขึ้นตรงกับกองพันพิเศษ กองพลที่ ๙ มณฑลปราจีนบุรี

          

                   ภาพหน่วยทหารช่างไทยกับทหารช่างสหรัฐอเมริกา  ในช่วงก่อนที่จะมีกองพันทหารช่างก่อสร้าง   ทหารช่างไทยยังคงทำงานร่วมกับทหารช่างสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิด  โดยเฉพาะทหารช่างสงครามเวียดนาม ในภาพเป็นการสำรวจพื้นที่ก่อนก่อสร้างร่วมกัน
                   พ.ศ.๒๔๕๕ ในปีนี้หน่วยทหารช่างจัดเพิ่มอีกหนึ่งหน่วย คือ กองทหารช่างที่ ๑๐ มณฑลอุบลราชธานี และเปลี่ยนชื่อ กรมทหารช่างที่ ๒ เป็นทหารช่างกองพันที่ ๒ ตั้งอยู่ที่ จว.อยุธยา โดยมีกำลัง ๒ กองพัน คือ กองพันที่ ๑ เป็นช่างสนาม กองพันที่ ๒ เป็นช่างสะพาน
                   พ.ศ.๒๔๕๖ ได้เปลี่ยนชื่อจเรทหารช่าง เป็น กรมจเรทหารช่าง
                   พ.ศ.๒๔๕๗ จัดหน่วยทหารช่างออกเป็น ๓ กรม กับอีก ๑ กอง โดยมี กรมทหารบกช่างที่ ๑ มี ๒ กองพัน กรมทหารบกช่างที่ ๒ มี ๓ กองร้อย กรมทหารบกช่างที่ ๓ มี ๓ กองร้อย และ กองทหารช่างที่ ๔ หน่วยเหล่านี้ขึ้นอยู่กับกองพลทหารบกที่ ๒, ๓, ๕ และ ๔ ตามลำดับ
                   พ.ศ.๒๔๕๙ กรมจเรทหารช่างยังขึ้นต่อกระทรวงกลาโหม ตามปกติ แต่ได้ตั้ง รร.ช่างทหารขึ้น ส่วนหน่วยทหารนั้นได้ยุบเลิกกองทหารช่างทั้งหมด คงจัดให้มีเพียง ๓ กรมเท่านั้น มี กรมทหารบกช่างที่ ๑ จัดกำลังพล ๒ กองพัน มีกองพันช่างสนาม กับกองพันช่างเครื่องสัญญาณ กรมทหารบกช่างที่ ๒ จัดกำลังพล ๒ กองพัน มีกองพันช่างสนาม กับกองพันช่างสะพาน กรมทหารบกช่างที่ ๓ จัดกำลังพล ๒ กองพัน มีกองพันช่างสนาม กับกองพันช่างรถไฟ แต่ละกรมนั้นขึ้นกับกองพลทหารบกที่ ๒, ๓ และ ๕ ตามลำดับ
                   พ.ศ.๒๔๗๕ ได้ยุบเลิกกรมทหารช่างทั้งหมด คงจัดเป็นหน่วยกองพัน ขึ้นตรงต่อ กองบังคับการของเหล่าตน และกองบังคับการเหล่าต่าง ๆ นั้น ขึ้นตรงต่อกองทัพบก สำหรับ กองบังคับการทหารช่าง และสื่อสาร มีกำลัง ๒ กองพันทหารช่าง และ ๒ กองพันทหารสื่อสาร ขึ้นในบังคับบัญชา
                   พ.ศ.๒๔๘๔ อยู่ในระหว่างสงครามมหาเอเซียบูรพา การจัดหน่วยทหารช่าง คงดำเนินการจัดกำลังตามอัตรากำลังรบ ๘๖ โดยจัดกำลังเป็น ๔ กองพัน คือ กองพันที่ ๑, ๒, ๓ และ ๔ มีทั้งหน่วยปกติและหน่วยในสนาม ส่วนแผนกที่ ๔ กรมจเรทหารบก เป็นแผนกทหารช่างขึ้นกับ กรมเสนาธิการทหารบก ตามคำสั่งทหาร ที่ ๒๓๑/๒๒๒๕๖ ลง ๕ มิ.ย.๘๔ แต่แผนกทหารช่างนี้ได้ย้ายจากพระนครไปอยู่ตำบลโคกหม้อ จังหวัดราชบุรี ในปี พ.ศ.๒๔๘๓ ก่อนกรณีพิพาทอินโดจีน
                   พ.ศ.๒๔๙๓ หน่วยทหารช่างได้จัดตั้ง กรมทหารช่างที่ ๑ ขึ้นใหม่เมื่อ มี.ค.๙๓ ขึ้นตรงกองพลที่ ๑ จัดกำลังเป็น ๒ กองพัน
                   พ.ศ.๒๔๙๕ ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือทางการทหารจากสหรัฐอเมริกา ได้รับเครื่องอุปกรณ์การช่างต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก หน่วยทหารช่างจึงต้องปรับปรุงและขยายโครงการจัดหน่วยให้เหมาะสมกับการช่วยเหลือทางการทหารจากสหรัฐอเมริกาเสียใหม่ จัดกำลังเป็น ๑ กรมทหารช่าง เรียกว่า กรมทหารที่ ๑ ขึ้นต่อกองพลที่ ๑ มีกำลัง ๒ กองพัน ต่อมาจึงได้จัดตั้งศูนย์ การฝึกทหารช่างที่จังหวัดราชบุรี ขึ้นชั่วคราว เพื่อเป็นลูกมือสำหรับการทดลองในเรื่องเกี่ยวกับ การฝึกและศึกษา ตั้งอยู่ประมาณ ๖ เดือนจึงยุบเลิก ต่อมาเดือน พ.ย. ได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนอัตราการจัดจากกรมจเรทหารช่างมาเป็น กรมการทหารช่าง ขึ้นตรงกองทัพบก จึงได้ตั้งศูนย์การฝึกขึ้นแบบสมบูรณ์ ขึ้นตรงต่อกรมการทหารช่าง เพื่อเป็นลูกมือสำหรับการทดลองในเรื่องเกี่ยวกับการฝึกศึกษา และเป็นโครงสำหรับขยายกำลังและเพิ่มกำลังให้แก่หน่วยทหารช่างยามสงคราม โดยมีหน่วยขึ้นตรง ๒ กองพัน คือ กองพันทหารช่างที่ ๕, ๖ กับอีก ๑ กองร้อยทหารช่างหน่วยซ่อม ในปีนี้เองเป็นปีเริ่มตั้งกรมการทหารช่างขึ้น
                   พ.ศ.๒๔๙๖ กรมทหารช่างที่ ๑ ได้สถาปนาเป็น กรมทหารรักษาพระองค์ จึงได้แปรสภาพ กรมทหารช่างที่ ๑ ทั้งกรมเป็นกรมทหารช่างที่ ๑ รักษาพระองค์
                   พ.ศ.๒๔๙๗ กรมการทหารช่าง ได้ปรับปรุงอัตราการจัดใหม่ โดยแบ่งกิจการออกเป็น ๒ ส่วน คือ กองบังคับการกรมการทหารช่าง และส่วนโรงเรียนทหารช่างอีกส่วนหนึ่ง และได้ยุบศูนย์การฝึกทหารช่างเสีย
                   พ.ศ.๒๔๙๘ กรมทหารช่างที่ ๑ รักษาพระองค์ ได้มาขึ้นตรงต่อกรมการทหารช่าง ในปีนี้มีหน่วยทหารช่างได้แปรสภาพ และกองร้อยอาวุธใหม่ในโครงการเพิ่มขึ้น คือ กองพันทหารช่างที่ ๑ รักษาพระองค์
                   พ.ศ.๒๕๐๑ กรมทหารช่างที่ ๑ รักษาพระองค์ และกองร้อยทหารช่างซ่อมบำรุงเป็นหน่วยขึ้นตรงต่อ ทบ. แต่ ทบ. ได้ฝากการบังคับบัญชาไว้กับ กรมการทหารช่าง
หน่วยทหารช่างนั้น นับว่ามีวิวัฒนาการมาตลอดระยะเวลา ๑๓๑ ปี หลายหน่วยแปรสภาพมาจากหน่วยรากฐานของทหารช่าง หลายหน่วยเพิ่งเกิดใหม่ แต่ไม่ว่าอย่างไร เหล่าทหารช่าง ล้วนมีที่มาจากจุดเดียวกัน ทหารช่างทุกคนมีสิทธิ์ภาคภูมิใจว่าอดีตของเรานั้นยาวนานกว่าร้อยปีเฉกเช่นกัน หน่วยของกรมหารทหารช่างในค่ายบุรฉัตรที่มีอดีตยาวไกลกว่า หน่วยอื่น น่าจะเป็น ช.พัน.๕๑ ซึ่งแปรสภาพมาจากหน่วย ช.พัน.๔ ที่ปฏิบัติงานในสนามห้วงสงครามมหาเอเซียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ ๒)
กองพันทหารช่างที่ ๕๑ เดิมมีชื่อว่า กองพันทหารช่างที่ ๕ หลังจากสงครามอินโดจีน ได้ยุติลง ในปี พ.ศ.๒๔๘๔ กองทัพบกไทย ได้มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงหน่วยต่างๆ เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์สงคราม ในการนี้ได้มีการจัดตั้งกองโรงเรียนทหารช่าง (“กอง รร.ช.”) ขึ้นใน กรมจเรทหารช่าง มีหน้าที่เป็นลูกมือเกี่ยวกับการฝึก และทดลองในทางการฝึกทหารช่างขึ้น ต่อมา ได้เกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศฝ่ายอักษะ ประกาศสงครามกับประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นฝ่ายสหประชาชาติ เมื่อ ๒๔ ธ.ค.๘๔ กองพันนี้ได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้ส่งกองร้อยงาน ๑ กองร้อย ขึ้นไปทำทางสายเมืองตาก - แม่สอด กองร้อยที่ ๑ จากจังหวัดราชบุรี ได้ไปปฏิบัติงานสร้างทางสายที่กล่าวมาแล้วร่วมกับหน่วยทหารช่างญี่ปุ่น การดำเนินงานของหน่วย ได้ผลสำเร็จ เป็นอย่างดียิ่ง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีประกาศ ชมเชยการปฏิบัติงานของทหารช่างหน่วยนี้ กำลังส่วนที่เหลือเคลื่อนย้ายจากจังหวัดราชบุรี โดยขบวนรถไฟ เมื่อ ๒๙ ธ.ค.๘๔ ไปเข้าที่พักจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ ๓๐ ธ.ค.๘๔ และได้ปฏิบัติราชการอยู่ในเขตกองทัพพายัพ ซึ่งมีการปฏิบัติที่สำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้
                   ตอนที่ ๑ เป็น พัน.ช.ของ พล.๒ เคลื่อนที่เข้าไปในดินแดนสหรัฐไทยเดิมทางด้านจังหวัดเชียงใหม่ และถอนตัวมาขัดตาทัพอยู่ ณ จังหวัดเชียงใหม่
                   ๑. สร้างทางเป็นถนนถมดินเพื่อเปิดให้เป็นเส้นทางสำหรับยวดยานต่าง ๆ ผ่าน เริ่มตั้งแต่ กม.ที่ ๙๙ ถนนสายเชียงใหม่ - ฝาง ที่ตำบลถ้ำแกลบ - ผ่าน อ.นาหวาย เข้าไปในดินแดนพม่า - ไทย ที่ช่องหนองหมู่ฮ่อ ผ่านเมืองหาง (ห้างหลวง), เมืองต่วน, เมืองสาต
                   ๒. จัดส่งกองร้อยที่ ๓ ไปขึ้นกับกรมทหารราบที่ ๕ ทำหน้าที่เป็น ร้อย.ช. ติดตาม กรม ร. เพื่อเปิดทางให้หน่วยทหารราบเคลื่อนที่ โดยการทำทางเกวียนและทางต่าง ๆ ตั้งแต่บ้านแม่เกน ผ่านเมืองต่วน เมืองสาต
                   ตอนที่ ๒ ถอนตัวมาตั้งขัดตาทัพที่จังหวัดเชียงใหม่ และปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วย ช.ของ กองทัพพายัพ
                   เมื่อ ๒๖ พ.ค. ๘๕ กองทัพพายัพทางด้านเชียงตุง ได้เข้ายึดเมืองเชียงตุง ซึ่งเป็น เมืองหลวงของแคว้นฉานใต้ได้ พล.๒ ทางด้านเชียงใหม่จึงถอนตัวจากดินแดนสหรัฐไทยเดิมมาตั้งขัดตาทัพที่จังหวัดเชียงใหม่ กองพันทหารช่างที่ ๔ ได้ถอนตัวลงมาเข้าที่พัก ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ ๒๓ มิ.ย.๘๕ จนถึง ๗ ส.ค.๘๕ จึงได้รับคำสั่งจากผู้บังคับทหารช่างกองทัพพายัพ “ ผบ.ช.ท.พายัพ” (พ.อ.วงค์ วงค์สมบุญ) ให้ขึ้นไปปฏิบัติงานซ่อมและบำรุงทางสาย เมืองเลน, เมืองพะยาค และ เมืองยองต่อไป กองพันนี้ได้เข้าปฏิบัติงานดังกล่าวแล้ว ตั้งแต่ ก.ย.๘๕ จนถึง ธ.ค.๘๕ รวมเวลาประมาณ ๓ เดือน ได้เปิดทางสายนี้จนสามารถให้ยวดยานผ่านไปมาได้ เป็นระยะทางประมาณ ๙๐ กม.
                   ตอนที่ ๓ เป็น พัน.๙ ของ พล.๔ ปฏิบัติหน้าที่การช่างในการกวาดล้างข้าศึก ออกจากดินแดนสหรัฐไทยเดิม
                   ในระยะนี้กองทัพพายัพ มีความมุ่งหมายจะกวาดล้างข้าศึกส่วนที่เหลือไปเสียจากดินแดนสหรัฐไทยเดิมเพื่อเข้ายึดรักษาพื้นที่นี้ไว้   เมื่อ  ธ.ค.๘๕ กองพันทหารช่างที่ ๔ ได้รับคำสั่งจากกองทัพพายัพให้ไปขึ้นกับ พล.4 มีหน้าที่ซ่อมและบำรุงทาง ระหว่าง เมืองยอง, เมืองหลวย และเมืองยู้ เพื่อให้หน่วยทหารทางด้านนี้เคลื่อนไปจนถึงแม่น้ำหลวย ซึ่งเป็นเขตเกือบขวาสุดของ กองทัพพายัพ กองพันทหารช่างที่ ๔ ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวไปด้วยความเรียบร้อย กับได้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญในทางการช่างอีกทางหนึ่ง คือ อำนวยการและจัดการส่งข้ามกำลังส่วนใหญ่ของ กรมทหารราบที่ ๓ และกรมทหารราบที่ ๑๓ ข้ามลำน้ำหลวย ซึ่งเป็นการข้ามต่อหน้าข้าศึกด้วยแพเลื่อนและเรือ สามารถทำการส่งข้ามกำลังดังกล่าวได้เรียบร้อยเป็นผลสำเร็จดียิ่ง นอกจากนี้ยังได้จัดหมวดงานจากกองร้อยต่าง ๆ ไปขึ้นอยู่กับกรมทหาราบส่วนที่เข้าตีเพื่อปฏิบัติงานเป็นทหารช่าง ในกองระวังหน้า มีหน้าที่เปิดทางให้ทหารราบเคลื่อนที่ได้สะดวก ปรากฎว่าทหารช่างส่วนที่จัดไป ได้ปฏิบัติงานสมความมุ่งหมายเป็นอย่างดี งานในตอนนี้เริ่มตั้งแต่ ธ.ค.๘๕ จนถึง ๓๑ ม.ค.๘๖ รวมระยะเวลา ๒ เดือนเต็ม
                   ตอนที่ ๔ การปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับกองพลสร้างทางคมนาคม ("พล.สคค.")
ในปี พ.ศ.๒๔๘๖ ได้มีการจัดตั้ง พล.สคค.ขึ้น เป็นกองพลขึ้นตรงต่อ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีหน้าที่ในการสร้างซ่อม และบำรุงเส้นทางคมนาคมเขตของกองทัพพายัพ โดยเกณฑ์แรงงานพลเรือนจากจังหวัดต่างๆ ทางภาคเหนือและภาคอิสาน และได้ขอแบ่งทหารช่าง ไปขึ้นอยู่ด้วยบางส่วน เพื่อทำหน้าที่บังคับบัญชาและควบคุมแรงงานดังกล่าว กองพันนี้ได้แบ่งกองร้อยที่ ๑ ไปขึ้นตรงกับ พล.สคค. และ ผบ.ช.พัน.๔ ได้รับหน้าที่เป็นผู้บังคับการกรม สคค. ที่ ๓ ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง กรมนี้มีหน้าที่รับผิดชอบการสร้างทางในเขต ตั้งแต่เมืองพะยาค จนถึงเมืองยองและเมืองหลวย ส่วนกำลังที่เหลือของกองพันนี้ ได้ย้ายการบังคับบัญชาไปขึ้นกับ พล.๒
                   ตอนที่ ๕ การทำงานในเขตหลังจนถึงเลิกสถานะสงคราม
กองพันนี้ได้ปฏิบัติงานซ่อมและบำรุงทางอยู่ในเขตเมืองยอง, เมืองยู้ และเมืองหลวย ต่อมาจนถึง ส.ค.๘๗ จึงได้เคลื่อนย้ายลงมาพักที่ ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ต่อจากนี้ได้แบ่ง กองร้อยงานแยกออกปฏิบัติการตามจุดต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
                   กองร้อยที่ ๑ เข้าที่ตั้งในเขตอำเภอลาว จังหวัดเชียงราย มีหน้าที่ซ่อมบำรุงทางในเขตระหว่างอำเภอลาว และอำเภอร้องกวาง
                   กองร้อยที่ ๒ อยู่ ณ ที่ตำบลบ้านดู่ เป็นหน่วยเชื่อมสะพานและทำการ ส่งข้ามที่แม่น้ำกก และแม่น้ำลาว จังหวัดเชียงราย ซึ่งขณะนั้นได้ถูกเครื่องบินของฝ่ายสหประชาชาติทำการทิ้งระเบิดสะพานเดิมเสียหายใช้การไม่ได้
                   กองร้อยที่ ๓ แยกไปเป็นกองร้อยอิสระ ขึ้นอยู่กับกรมทหารราบที่ ๑๑ เข้าที่ตั้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ทำหน้าที่เป็นกองร้อย ช.ของกรมนี้
                   ส่วนกองบังคับการกองพันและกำลังที่เหลือคงเข้าที่ตั้งอยู่ที่อำเภอลาว กองพันนี้ คงแยกกองร้อยปฏิบัติงานดังกล่าวอยู่จนกระทั่งหมดสถานะสงคราม จึงได้เคลื่อนย้ายกำลังทั้งหมดไปที่จังหวัดลำปาง และเดินทางกลับที่ตั้งปกติจังหวัดราชบุรี
                   เมื่อหน่วยต่าง ๆ เริ่มย้ายเข้ามาอยู่ในจังหวัดราชบุรี ซึ่งมีที่ตั้งรวมอยู่ในค่ายภาณุรังษี ส่วนที่ ๑ นั้น พื้นที่ค่ายภาณุรังษี ส่วนที่ ๒ มีหน่วยทหารบางหน่วยตั้งอยู่ก่อนแล้ว แต่เราไม่สามารถสืบค้นประวัติตรงช่วงนี้ได้แน่ชัดนัก เท่าที่พอจะนำมาเสนอได้ก็บันทึกจากคำสัมภาษณ์ของอดีตผู้บังคับบัญชา ซึ่งเคยรับราชการอยู่ในหน่วยในพื้นที่เท่านั้น

พล.อ.ประยูร     พงษ์นิทรัพย์
                   บรรจุเข้ารับราชการที่กรมทหารช่าง ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ ประจำอยู่ที่ บก.กช. เขาให้ทำหน้าที่ฝึก นนส. ประมาณเดือน ต.ค. ย้ายมาบรรจุในหน่วย ช.พัน.๖ ร้อย.๓ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในค่าย ๑ แต่ต้องเข้ามาทำงานในค่าย ๒
                   สมัยนั้นในค่าย ๒ ยังไม่มีอะไรเลย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่เนินมีป่าไผ่อยู่รอบบริเวณ มีหน่วยทหารเพียง ๒ หน่วย คือ กองคลัง และกองเครื่องช่วยฝึก เขาสร้างโรงเลื่อยของกองคลังไว้ที่นี่ ส่วนเป้าปืน และอุปกรณ์เครื่องช่วยฝึกต่าง ๆ ที่ได้รับจากกองทัพบกอเมริกัน ทางกองเครื่องช่วยฝึกได้นำมาเก็บไว้ที่นี่ด้วย
ประมาณ พ.ศ.๒๕๐๐ - พ.ศ.๒๕๐๑ ช.พัน.๖ ได้รับคำสั่งให้ก่อสร้างสนามบินในค่าย ๒ ซึ่งไม่ทราบรายละเอียดที่แน่นอนว่าสร้างเพราะอะไร อาจจะเนื่องมาจากอยู่ในห้วงสงครามเวียดนาม บางทีจะใช้ประโยชน์ได้บ้าง อย่างไรก็ตามมีเครื่องบิน C - ๑๓๐ มาขึ้นลงบ่อยเหมือนกันและห้วงเวลาเดียวกันก็ได้มีการก่อสร้างสนามยิงปืนทราบระยะในบริเวณทิศตะวันออกของค่าย (ซึ่งก็คือบริเวณที่เป็นสนามกอล์ฟที่อยู่ตรงข้ามกับสนามเทนนิสในปัจจุบัน) ความเป็นอยู่ในช่วงนั้นลำบากมาก ถนนหนทางไม่ดี ไม่มีใครนำครอบครัวมาด้วยเพราะกันดารเหลือเกิน น้ำ - ไฟก็ไม่มีใช้ อาคาร OICC ที่สหรัฐอเมริกามาสร้างไว้ให้ดูเหมือนจะอยู่ในป่า เพราะปกคลุมด้วยต้นไม้หนาทึบ มีไฟฟ้าใช้เหมือนกัน แต่แสงริบหรี่มาก อาหารการกินก็หาซื้อเองแถว ๆ วัดตาล ตอนนั้นอาหารปิ่นโตชั้นละ ๕๐ สต. เท่านั้น
                   ราวปี พ.ศ.๒๕๐๔ ช.พัน.๖ ได้รับคำสั่งให้ไปสร้างทางตามโครงการอรัญวิถี ที่อรัญประเทศ ระยะทางราว ๕๐ กม.


ภาพถ่ายทางอากาศ   พื้นที่บริเวณที่ใช้ก่อสร้างสนามบิน  ค่ายภาณุรังษี  ส่วนที่ ๒  (ค่ายบุรฉัตรในปัจจุบัน )

พล.ท.ธงชัย     เชื้อสนิทอินทร์
                   เริ่มเข้ารับราชการ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔ จะเห็นว่าในค่าย ๒ มีสถานที่เดิมอยู่ดังนี้
                   แผนกสนามฝึกยิงปืนทราบระยะ กรมการทหารช่าง ซึ่งเป็นสนามยิงปืนที่ได้มาตรฐาน ระยะยิง ๑๐๐, ๓๐๐ และ ๕๐๐ หลา และสนามยิงปืน ๑,๐๐๐ นิ้ว สนามฝึกรบระยะประชิด

                   สนามฝึกยิงปืนทราบระยะ กรมการทหารช่าง  ตั้งอยู่ในพื้นที่ค่ายบุระฉัตร (ค่ายภาณุรังษี ส่วนที่ ๒ เดิม ) ในภาพเป็นสภาพของสนามก่อนที่จะถูกรื้อ ปัจจุบันเป็นพื้นที่ของศูนย์กีฬาสถาพร
                    แผนกโรงเลื่อยของ กรมการทหารช่าง
                   กองพันฝึกเบื้องต้นเฉพาะเหล่าช่าง เป็นหน่วยที่มีอยู่ในพื้นที่ค่ายภาณุรังษี ส่วนที่ ๒ อยู่เดิม เป็นหน่วยหลัก เมื่อมีการพัฒนาหน่วยใหม่ กองพันฝึกเบื้องต้นเฉพาะเหล่าช่าง ได้แปรสภาพไปเป็น ช.พัน.๕ ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๖ (กองพันฝึกเบื้องต้นเฉพาะเหล่าช่าง เป็นสถานที่ใช้สำหรับฝึกนักเรียนที่จบแล้ว โดยให้มาฝึกเบื้องต้นเฉพาะเหล่าช่างที่นี่อีก ๖ – ๘ สัปดาห์)
                   สนามบินของ กรมการทหารช่าง และ จทบ.ร.บ.
                   หน่วยที่ก่อตั้งใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็นต้นมา
                        ๑. เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้จัดตั้ง กองร้อยทหารช่างเครื่องมือเบา (ร้อย.ช.คมบ.) ข้างสนามบินเขากรวด เป็น นขต. ของ กช.
                        ๒. ในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ กรมทหารช่างที่ ๑ รักษาพระองค์ (ช.๑ รอ.) ย้ายจาก กรุงเทพฯ มา จว.ราชบุรี เนื่องจากมีปัญหาเรื่องพื้นที่ และได้ย้ายมาปกครองค่ายฯ ๒ ด้วย มีหน่วยในบังคับบัญชา คือ ช.พัน.๖ ขณะนั้น ช.พัน.๖ อยู่ใน กช. หรือ ค่ายฯ ๑ และได้โอน ร้อย.ช.คมบ. ไปขึ้นการบังคับบัญชากับ ช.๑ รอ. ด้วย โดย ผบ.ช.๑ รอ. เป็น ผบ.ค่ายพัก มาตลอด จนมีการจัดตั้ง กองพลทหารช่าง ผบ.ค่ายพัก จึงเปลี่ยนมาเป็น ผบ.พล.ช.
                        ๓. พัน.ช.ก่อสร้าง (ช.พัน.๑๑๑) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ จัดตั้งขึ้นตามข้อตกลงการช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐอเมริกา โดยสหรัฐฯ สนับสนุนทั้งงบประมาณในการจัดตั้งหน่วย และเครื่องมือต่าง ๆ ด้วย เป็นงบประมาณในการจัดตั้งที่สูงมาก จากที่รู้มา สหรัฐอเมริกา มีพันธสัญญากับไทย หลังจากสงครามเกาหลีเสร็จสิ้นแล้ว ทางรัฐบาลสหรัฐฯ สอบถามมาทางรัฐบาลไทยว่าจะให้สหรัฐฯ ช่วยเหลือทางทหารอย่างไรบ้าง ก็ปรากฎว่าทางรัฐบาลไทย จะขอให้จัดตั้งหน่วย ๒ กองพัน คือ กองพันจรวดฮอว์ค และ กองพันก่อสร้าง แต่กองพันจรวดฮอว์ค ไม่ได้จัดตั้ง เท่าที่รู้ ประเทศเกาหลี ขอกองพันก่อสร้าง ๙ กองพัน เพื่อนำไปพัฒนาประเทศ ทำให้เกาหลีมีการพัฒนาประเทศได้อย่างเต็มที่ ประเทศฟิลิปปินส์ ขอ ๓ กองพันก่อสร้าง ที่ประเทศไทยขอแค่ ๑ กองพันก่อสร้าง เนื่องจากขณะนั้นยังไม่ค่อยให้ความสำคัญ กองพันก่อสร้าง เท่าไรนัก ให้ความสำคัญกับ กองพันสนามมากกว่า และทหารไม่ค่อยมีบทบาทในเรื่องการพัฒนาประเทศ สำหรับยุทโธปกรณ์ในการสนับสนุนการก่อสร้าง นั้น พ.ศ. ๒๕๐๔ ปลายปี จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๕ มีข้อตกลงทางทหารว่าสหรัฐอเมริกาจะสนับสนุนกองทัพไทย ด้านการพัฒนาเส้นทางสายยุทธศาสตร์ โดย กองบัญชาการทหารสูงสุด ขณะนั้น ขอรับการสนับสนุนให้ปรับปรุงถนนจากฉะเชิงเทราไปกบินทร์บุรี เพื่อจะไปโคราช ถนนสายแรก คือ ถนนจากฉะเชิงเทราไปพนมสารคราม ไปสิ้นสุดที่กบินทร์บุรี เป็นโครงการแรก โดยกองพันทหารช่างสหรัฐฯ ที่ ๘๐๙ ทางกองทัพไทยจึงให้ทหารช่างไทยไปร่วมปฏิบัติงาน เพื่อฝึกความคุ้นเคยในการปฏิบัติงานช่างสนาม และเป็นการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับยุทโธปกรณ์ใหม่ ๆ จึงส่ง กองร้อยทหารช่างก่อสร้าง ร่วมสนับสนุนการก่อสร้าง ๑ กองร้อย ตั้งแต่เดือน ม.ค. พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นต้นมา ผบ.ร้อย. คนแรก คือ ร.อ.ประยูร พงษ์นิทรัพย์ (ยศในขณะนั้น) จัดกำลังจาก ช.พัน.๖ ร้อย.๓ เป็นหลัก จัดสมทบ คือ ชุดซ่อมเครื่องมือสายช่างที่ ๓๔ จาก ร้อย.ช.เครื่องมือสนาม และชุดซ่อมจาก สพ. อีกทีมหนึ่ง ไปทำงานร่วมกับ ช.พัน.๘๐๙ ของสหรัฐฯ อยู่หลายปี ต่อมาประมาณ ต.ค. ๐๖ ถึง ก.ย.๐๗ ได้รับเลือกให้ไปเป็นนายทหารติดต่อ ประจำ ช.พัน.๘๐๙ เมื่อ ช.พัน.๘๐๙ ก่อสร้างถนน ถึงกบินทร์บุรี เสร็จ และได้ก่อสร้างถนนจาก กบินทร์บุรี ผ่านปักธงชัย อีกสายหนึ่ง ทำให้มีโอกาสร่วมกับ ฝอ.๓ ช.พัน.๘๐๙ ทำการสำรวจเส้นทางแถบท่าเรือคลองเตย เพื่อจะตัดถนนสายใหม่ จากท่าเรือคลองเตยผ่านไปสัตหีบ เพราะสัตหีบมีสนามบิน และทำการก่อสร้างทางจากท่าเรือคลองเตยผ่านท่าเรือสัตหีบ แล้ววกไปกบินทร์บุรี โดยผ่าน อ.บางคล้า อ.ศรีราชา ออกพนัสนิคม ถึงสนามบินอู่ตะเภา เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว เครื่องมือที่ดำเนินการทั้งหมด สหรัฐฯ ก็โอนให้กับ กองพันทหารช่างก่อสร้างของเรา รวมทั้งเครื่องมือที่สั่งเพิ่มเติมจากสหรัฐฯ ด้วย


การเคลื่อนย้ายกำลังพล และยุทโธปกรณ์เข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ ที่ห่างไกลจากที่ตั้ง

                        ๔. ในปี พ.ศ.๒๕๑๓ กช. ได้จัดตั้งกองร้อยทหารช่างอิสระขึ้นอีก ๑ กองร้อย คือ กองร้อยทหารช่างก่อสร้างรถยนต์บรรทุกเทท้าย (ช.ร้อย.๑๔) เพื่อสนับสนุน พัน.ช.ก่อสร้าง โดยใช้ อจย. ของไทย แต่เลียนแบบ อจย. สหรัฐฯ โดยปรับปรุงให้เหมาะสมกับประเทศไทย หลังจากจัดตั้ง พัน.ช.ก่อสร้าง แล้ว ฝอ.๓ ตอนยุทธการ กช. ได้พิจารณาหลักการ ตามระบบของกองทัพบกสหรัฐฯ ในหน่วยทหารช่างต่าง ๆ จะแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม หลัก ๆ
                             กลุ่มที่ ๑ หน่วยทหารช่างสนาม จัดเป็นกองพันทหารช่างสนาม สนับสนุนกองพันทหารราบ และกองพันทหารช่างของกองทัพ
                             กลุ่มที่ ๒ หน่วยทหารช่างก่อสร้าง มีอยู่หลายหน่วย หน่วยหลักคือ กรมทหารช่างก่อสร้าง ประกอบด้วย กองพันทหารช่างก่อสร้าง ๒ – ๕ และหน่วยสนับสนุนภารกิจงานก่อสร้าง ก็จะมี กองร้อยทหารช่างอิสระ เช่น กองร้อยทหารช่างรถยนต์บรรทุกเทท้าย, กองร้อยทหารช่างเครื่องมือหนัก, กองร้อยทหารช่างเครื่องมือเบา, กองร้อยทหารช่างสะพาน
                             กลุ่มที่ ๓ หน่วยทหารช่างส่งกำลังและซ่อมบำรุง
                        ๕. ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ กช. ได้จัดตั้ง กองร้อยสนับสนุนการก่อสร้างขึ้นอีก ๑ กองร้อย คือ ช.ร้อย.๑๑๕ ภารกิจคือสนับสนุน พัน.ช.ก่อสร้าง เช่นเดียวกับ ช.ร้อย.๑๔
                        ๖. ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ หรือ พ.ศ. ๒๕๒๐ ช.พัน.๖ ได้ย้ายจาก กช. (ค่ายฯ ๑) มาอยู่ในพื้นที่ ค่ายฯ ๒ แล้วเปลี่ยนชื่อ เป็น กองพันทหารช่างที่ ๕๒ (ช.พัน.๕๒) สาเหตุการย้าย เพราะ ช.พัน.๕๒ เป็น นขต.ของ ช.๑ รอ.
                        ๗. ในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ มีการจัดตั้ง กองพันทหารช่าง ขึ้นอีก ๑ กองพัน คือ ช.พัน.๑๑๒ จัดตั้งโดย ทบ. ไทยเอง และได้จัดตั้ง กรมทหารช่างที่ ๑๑ ขึ้นมาด้วยในปีเดียวกัน โดยมี พ.อ.ประยูรฯ (ยศในขณะนั้น) เป็น ผบ.ช.๑๑ เป็นคนแรก และ พ.ท.ธงชัยฯ (ยศในขณะนั้น) เป็น ผบ.ช.พัน.๑๑๒ คนแรก การทำงานจะจัดเป็นกองร้อยทหารช่างก่อสร้างหย่อนกำลัง ออกไปปฏิบัติงาน และมีส่วนหนึ่งไว้รักษาการณ์ที่ตั้งปกติ ในชุดที่ออกปฏิบัติงานจะสมทบด้วยชุดซ่อมบำรุงเครื่องมือสายช่างด้วย และจะขอชุดซ่อมบำรุงสาย สพ. จาก สพ.ทบ. ไปสมทบด้วย ส่วนใหญ่จะจัดในลักษณะนี้ ถ้าต้องการเครื่องมือหนักสนับสนุนก็จะขอเพิ่มเติมจากกองพันเดียวกันมาสมทบ เช่น งานก่อสร้างสนามบินที่ จว.ปราจีนบุรี หรือปรับปรุงสนามบินที่ จว.นครศรีธรรมราช ก็ใช้กองร้อยเดียว
                        หลังจากจัดตั้ง ช.๑๑ แล้ว ทบ. ก็มีการโอนหน่วย ช.ร้อย.๑๔ และ ช.ร้อย.๑๑๕ มาฝากการบังคับบัญชาไว้กับ ช.๑๑ (เดิมอยู่กับ ช.พัน.๑๑๑) ช.๑๑ เป็นหน่วยบังคับบัญชา ช.พัน.๑๑๑, ช.พัน.๑๑๒, ช.ร้อย.๑๔ และ ช.ร้อย.๑๑๕
                        ๘. ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ หน่วย ตอน ประปาสนาม (ตอน ช.๙๓) ได้ย้ายมาอยู่ในพื้นที่ค่ายฯ ๒ เนื่องจาก ค่ายฯ ๑ ไม่จำเป็นต้องใช้ แต่ค่ายฯ ๒ มีความจำเป็นเรื่องระบบประปาภายในค่ายฯ และ ช.พัน.๕ หรือ ช.พัน.๕๑ ย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่ค่ายฯ ๒ ด้วย โดยฝากการบังคับบัญชาไว้กับ ช.๑๑
                        ๙. ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ได้มีการจัดตั้ง กองร้อยทหารช่างสะพานผสม (ช.ร้อย.๑๘) เป็นหน่วย ของ กช. จัดตั้งขึ้นเพื่อจะพัฒนาระบบสะพาน เครื่องข้ามลำน้ำ ไม่เกี่ยวกับการก่อสร้าง และฝากการบังคับบัญชาไว้กับ ช.๑๑
                        การจัดตั้ง กองบัญชาการกองพลทหารช่าง ( พล.ช. ) พล.ต.นิวัตร สายอุบล (ยศในขณะนั้น) เป็น ผบ.พล.ช. คนแรก ท่านได้จัดตั้งหน่วย และพัฒนาหน่วยเป็นอย่างดี ตอนแรกตั้ง บก. ชั่วคราวอยู่ที่ ช.๑๑ และได้กำหนดให้ บก.พล.ช. ไปตั้งอยู่ในพื้นที่ของ พัน.ช.คมศ. บริเวณโค้งห้วยกระแทก ต่อมา พล.ต.ธงชัยฯ (ยศในขณะนั้น) ได้มารับตำแหน่ง ผบ.พล.ช. ต่อจาก พล.ต.นิวัตรฯ ได้เห็นว่าที่ตั้งหน่วย บก.พล.ช. นั้น ห่างไกล เป็นพื้นที่ยากต่อการรักษาความปลอดภัย ไม่สะดวกในการบังคับบัญชา นขต. การติดต่อสื่อสาร การประปายังไม่สะดวก อยู่มาก จึงได้ปรึกษาหารือขอมาตั้งยังพื้นที่ปัจจุบันจะเหมาะสมกว่า โดยได้ขอซื้อที่ดินว่างเปล่าเพิ่มเติม และได้เริ่มก่อสร้าง แต่ พล.ต.ธงชัยฯ ก็ไม่มีโอกาสได้มาอยู่ยังที่ตั้ง บก.พล.ช. เนื่องจากได้รับการปรับย้ายก่อนที่จะก่อสร้างอาคารเสร็จ

พล.อ.อำนาจ     มีกลิ่นหอม
                   ผมรับราชการครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๑๐ ที่ กองร้อยทหารช่างก่อสร้างที่ ๑ กองพันทหารช่างที่ ๕ ในขณะนั้นมีหน่วยทหารในค่ายฯ คือ ช.พัน.๕ ร้อย.๑ ในกลางปี ๒๕๑๐ บก.ช.พัน.๕ จึงย้ายจากค่ายฯ ๑ มาอยู่ที่ค่ายฯ ๒ ปีต่อมา บก.ช.๑ รอ. ก็ย้ายเข้ามาในค่ายฯ ๒ ประมาณปี ๒๕๑๒ ช่วงเวลานั้นมีหน่วยทหารน้อยมาก อาคารส่วนใหญ่อยู่ด้านทิศเหนือของ ช.พัน.๑๑๑ และบ้านพักมีเล็กน้อย สภาพเดิมของค่ายนี้ ด้านใต้ของค่าย หน้าค่ายฯ มี บก.ช.๑ รอ., บก.ช.พัน.๕ ร้อย.๑ ด้านหลังเป็นต้นไม้ ป่าไผ่เป็นส่วนใหญ่ ใช้เป็นพื้นที่ฝึกทหารจากค่ายฯ ๑ และทหารภายในค่ายฯ ๒ ทิศตะวันออกติดเขางู เขาฤาษี เขาพระยาปราบ ถนนหน้ากรมเดิมยังเป็นถนนลูกรัง พื้นที่ทั้งหมดด้านตะวันออกจะเป็นพื้นที่ฝึก สนามยิงปืน สนามรอดกระสุนวิถี อาคารของ ช.พัน.๑๑๑ ยังไม่มี ต่อมาในปี ๒๕๑๒ จึงตั้ง ช.พัน.๑๑๑ และปี ๒๕๑๔ จัดตั้ง ช.ร้อย.๑๔ ขึ้นมา ในปี ๒๕๑๙ จัดตั้ง ช.พัน.๑๑๒ โดยแยกจากหน่วย ช.พัน.๑๑๑ ในปี ๒๕๒๐ จัดตั้ง ช.ร้อย.๑๑๕ ปี ๒๕๒๓ ตั้ง ช.๑๑ ในปี ๒๕๒๐ มีการแปรสภาพหน่วยจากหน่วย ช.พัน.๕ เป็น ช.พัน.๕๑ โดยขึ้นการบังคับบัญชากับ ช.๑ รอ. และย้ายไปอยู่ด้านหลังค่ายจนถึงปัจจุบัน ส่วนชื่อของ ช.พัน.๕ ก็ได้นำไปใช้ที่ทุ่งสง เป็นหน่วยทหารช่างของ พล.ร.๕ และในปี ๒๕๒๐ นั้น อาคารของ ช.พัน.๕ เดิมได้ใช้เป็นอาคารของ ช.พัน.๖ ซึ่งย้ายมาจากค่ายฯ ๑ มาอยู่ที่อาคาร ช.พัน.๕ เดิมและเปลี่ยนชื่อ ช.พัน.๖ เป็น ช.พัน.๕๒ ช.๑ รอ. ส่วนชื่อของ ช.พัน.๖ ได้กลายเป็นหน่วยทหารช่างที่ขึ้นตรงกับกองพลทหารราบที่ ๖ จว.ร้อยเอ็ด สำหรับการจัดตั้ง ช.พัน.๑๑๒ เนื่องจากปริมาณงานที่ ทบ. แบ่งมอบให้ กช.มีมากขึ้น จึงจัดตั้ง ช.พัน.๑๑๒ ขึ้น และจัดหายุทโธปกรณ์ให้ และจัดตั้ง ช.๑๑ ในเวลาต่อมา ช่วงหลังประมาณปี ๒๕๒๘ - ๒๕๓๑ ซื้อที่ดินบริเวณหลังค่ายที่ตั้งของ ช.พัน.๖๐๒ และ ช.พัน.๖๐๒ ได้ย้ายมาอยู่ที่ค่ายฯ ๒ ปี ๒๕๒๙ มาอยู่ที่ ตอน ช.๙๓ และ ช.พัน.๖๐๒ ได้ย้ายไปอยู่ที่ปัจจุบันในปี ๒๕๓๒ ที่ดินที่ซื้อเป็นของชาวบ้านที่จะขายเนื่องจากทำกินไม่ค่อยได้ เดิมเอกชนได้มาขุดบ่อลูกรังไว้เป็นหลุมเป็นบ่อ และมีความจำเป็นที่จะต้องขยายค่ายฯ เพื่อรองรับหน่วยทหารที่จะเกิดเพิ่มขึ้น ปี ๒๕๒๙ จัดตั้ง พัน.ช.กช. ร้อย.๑ ขึ้นมา และได้จัดตั้ง พล.ช. ในเวลาต่อมา ในขณะนั้นผมเป็น ผบ.ช.๑๑ บก.พล.ช. ขณะนั้นยังไม่มีที่ตั้ง ผบ.พล.ช. คือ พล.ต.นิวัตร สายอุบล ยังมาใช้ห้องทำงานที่ บก.ช.๑๑

                        

                   การก่อสร้างอาคารกองบัญชาการกองพลทหารช่าง   ซึ่งกองพลทหารช่างเป็นหน่วยดำเนินการก่อสร้างเองทั้งหมด ภายใต้โครงการเสริมสร้างกำลังกองทัพ ปี ๒๕๓๓ ถึงปี ๒๕๓๗ ซึ่งมี พล.อ.สุจินดา   คราประยูร  ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์  เมื่อวันที่ ๒๓ มิ.ย. ๒๕๓๔
                   ในปี ๒๕๓๓ เริ่มก่อสร้างอาคาร บก.พล.ช. ปี ๒๕๓๕ จึงย้ายเข้าใช้อาคารของ บก.พล.ช. ต่อมาในปี ๒๕๓๒ จัดตั้ง พัน.ช.คมศ. ในค่ายฯ ๒ และได้ย้ายไปอยู่ในที่ปัจจุบัน ในปี ๒๕๓๗ ส่วนต้นสักหลัง บก.พล.ช. ปลูกเมื่อปี ๒๔๙๗ ปลูกโดย พ.ท.เจตน์ สิชฌนุกฤษณ์ นำพันธุ์มาจากจอมบึง, ถ้ำเขาบิน และมีตายบ้างในเวลานั้น ต่อมาในปี ๒๕๒๗ ผมจึงมาปลูกเพิ่มเติม แต่เดิมพื้นที่ในค่ายฯ เป็นพื้นที่ฝึกของ พัน.ฝึก ช. ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่ปราณบุรี พัน.ฝึก ช. เดิมก็แปรสภาพเป็น ช.พัน.๕ และพัฒนาเรื่อยมา ส่วนสนามบินสร้างในปี ๒๕๐๐ สร้างโดย ร.ท.ประยูร พงษ์นิทรัพย์ (ยศในขณะนั้น) และเพื่อนซึ่งเสียชีวิตในเวลาต่อมาด้วยอุบัติเหตุรถคว่ำ
                   กำลังพลและครอบครัว จากการแปรสภาพ พัน.ฝึก ช. และย้ายไปอยู่ที่ปราณบุรี ครอบครัวส่วนใหญ่ยังอยู่ที่ค่ายฯ ๒ ต่อมาในภายหลังหน่วยเพิ่มขึ้น จึงมีการสร้างบ้านพักเพิ่มขึ้นด้วย ประมาณ ปี ๒๕๑๒ - ๒๕๑๓ ผมไปราชการที่เวียดนาม พื้นที่ของ พล.ช. ก็ซื้อเพิ่มใหม่ แต่เดิมพื้นที่ด้านหน้าค่ายยังไม่ติดถนน ยังเว้าแหว่งอยู่ มาซื้อเพิ่มเติมในช่วงที่ ๒ เป็น บก.พล.ช. อาคารบรรจบ บุนนาค บ้านพัก สนามกีฬาค่ายฯ และบริเวณ ช.พัน.๕๑ เดิมสภาพขอบเขตรั้วของค่ายฯ คดเคี้ยวไปมา เป็นรั้วลวดหนาม และรั้วสังกะสีจากกองบังคับการไปถึงประตูที่ ๒ กำแพงค่ายนี้กระผมเป็นผู้ดำเนินการเอง
                   วิวัฒนาการค่ายบุรฉัตรแบ่งเป็น ๓ ระยะ
                        ระยะแรก คือ เริ่มมีค่ายฯ, มีกองพันฝึก ช.
                        ระยะที่ ๒ ซื้อที่ดินเพิ่มเติมจากเดิมไม่ติดถนน ให้ติดถนนดังปัจจุบัน
                        ระยะที่ ๓ เพิ่ม ช.พัน.๖๐๒ และ พัน.ช.กช. ร้อย.๑ การฝึกส่วนใหญ่จะใช้พื้นที่ฝึก ในค่ายฯ ๒ ส่วนสนามฝึกจารุมณีได้ขอจากกรมป่าไม้ โดยให้เหตุผลว่าจะดูแลให้และ ย้าย รร.ช. มาอยู่ที่พื้นที่นี้ ศาลาวงกลม ร.๕ ขณะนั้นผมเป็น รอง ผบ.ช.๑๑ และเป็นประธานในการก่อสร้าง และเปิดในเวลาต่อมาขณะที่ผมเป็น ผบ.ช.๑๑
                   สภาพพื้นที่หน้าค่ายส่วนใหญ่เป็นที่ราบ ล้อมรอบด้วยภูเขาด้านทิศตะวันออกถึง ด้านเหนือ ทิศใต้จรดถนนราชบุรี - จอมบึง ทิศตะวันตกจรดคลองชลประทาน พื้นที่ทั้งหมด ใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างอาคารทางราชการและบ้านพักทหาร สิ่งสาธารณูปโภคต่างๆ และไม่ เหมะสมกับการจัดตั้งหน่วยทหารเพิ่มเติมเพราะพื้นที่เต็มหมดแล้ว การเกษตรกรรมสามารถทำได้ เล็ก ๆ น้อย ๆ หลังกองร้อย ในช่วงแรกพื้นที่ในค่ายฯ ยังเป็นพื้นที่ฝึกของทหารค่ายฯ ๑ และค่ายฯ ๒ และทหารลาวเป็นประจำทุกปี ปัจจุบันพื้นที่ฝึกดังกล่าวเป็นสนามกอล์ฟ, ทิศทางการระบายน้ำในค่ายส่วนใหญ่ไหลจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก และจากทิศใต้ไปทิศเหนือ บริเวณโรงเลื่อยจะมีสระ กักเก็บน้ำ ภายหลังจึงทำคลองออกทางด้านหน้าเขางู ภายในค่ายฯ เคยมีน้ำท่วมในช่วงประมาณ ปี ๒๕๓๑ - ๒๕๓๒ ในสมัยนั้น พล.ท.วิเชียร สุกปลั่ง เป็น จก.กช. ในช่วงฤดูฝนน้ำจะไหลผ่านจาก ถนนราชบุรี - จอมบึง และไหลผ่านเข้าค่ายฯ จากการสร้างอาคารในแต่ละที่ไม่กำหนดค่าระดับทำให้ มีที่สูงต่ำต่างกัน มีน้ำขังเป็นจุดๆ ปัจจุบันน่าจะได้รับการแก้ไขแล้ว
                   ด้านสาธารณูปโภค
                        ไฟฟ้า ในช่วงเวลานั้นยังไม่มีไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคใช้ ยังคงใช้ไฟจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของค่ายฯ เอง ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้า บก.ช.๑ รอ. และเป็น รร.ทบอ.ในปัจจุบัน โดยปั่นไฟขนาด ๒๒๐ โวทล์ เนื่องจากจ่ายไฟฟ้าได้น้อยจึงจ่ายเป็นเวลาในช่วง ๖ โมง ถึง ๔ ทุ่ม ใช้หลอดไฟขนาด ๑๑๐ โวทล์ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดังกล่าวเป็นของ กช. ปัจจุบันได้ใช้ไฟฟ้าของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตั้งแต่ประมาณปี ๒๕๑๒ ต่อมาภายหลังเมื่อหน่วยทหารและบ้านพักเพิ่ม มากขึ้น จึงแยกหม้อแปลงไฟฟ้าไปในที่ต่าง ๆ ภายในค่ายฯ และปัจจุบันถือว่าเรียบร้อยดี
                        ประปา เดิมสูบน้ำดิบจากแม่น้ำแม่กลองเข้ามาเก็บที่บ่อพักหลังกองรักษาการณ์ ตั้งประปาชั่วคราวขึ้น และดูดน้ำจากบ่อหลังโรงเลื่อยเข้ามาที่บ่อพักหลังกองรักษาการณ์ ทำน้ำประปาแจกจ่ายให้กับส่วนราชการและบ้านพักภายในค่ายฯ แต่ก็ไม่เพียงพอต้องกำหนดจ่ายเป็นเวลา ต่อมาปี ๒๕๑๔ จึงก่อตั้งโรงผลิตน้ำประปาขึ้นมาที่ด้านหลัง บก.ช.พัน.๑๑๑ สามารถแจกจ่ายน้ำให้ส่วนราชการ และบ้านพักได้มากขึ้นแต่ยังคงจ่ายเป็นเวลาเช่นเดิม ต่อมาได้ขุดบ่อน้ำดิบจากที่ดิน ที่ซื้อใหม่ติดคลองชลประทานรองรับน้ำดิบเพื่อทำประปาแจกจ่ายให้กับส่วนราชการและบ้านพัก และในปี ๒๕๓๕ ได้ดำเนินการขยายบ่อน้ำดิบเพื่อรองรับการกักเก็บน้ำได้มากขึ้น จากเดิมลึก ๒ เมตร เป็นลึก ๓ เมตร ขุดลอกสระหลังโรงเลื่อยใหญ่ขึ้นเพื่อเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ตอนที่ คลองชลประทานปิดซ่อมแซมคลองประมาณ ๑ - ๒ เดือน เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดหน้าแล้ง ภายหลังทำเสร็จแล้วผมจึงย้ายไปอยู่ ยย.ทบ. สำหรับการควบคุมการทำน้ำประปายังไม่ดีต้องส่งไปตรวจคุณภาพน้ำขณะผมเป็น รอง จก.กช. นอกจาก นั้นยังต้องกวดขันวินัยการใช้น้ำด้วย
                        โทรศัพท์ ภายหลังที่จัดตั้ง ช.๑๑ ได้จัดตั้งชุมสายโทรศัพท์ภายในได้ประมาณ ๓๐๐ เลขหมาย ต่อมาภายหลังตั้ง บก.พล.ช. ก็ขอเลขหมายโทรคมนาคมทหารได้จาก สส.ทหาร ๔ - ๕ เลขหมาย และขยายชุมสายภายในมากขึ้น
                   ในปี ๒๕๓๔ ได้จัดตั้งสำนักงานสาธารณูปโภคขึ้นมาดูแลอำนวยความสะดวกในสิ่งสาธารณูปโภคต่าง เช่น น้ำประปาภายในค่ายฯ เมื่อมีการก่อสร้างอาคารเพิ่มมากขึ้น ก็มีการสร้างถนนตามมาด้วย ในปี ๒๕๓๑ ก็มีการกำหนดระบบระบายน้ำในค่ายฯ ๒ ให้เป็นระบบเดียวกัน โดยต้องมีฝาระบาย, ตะแกรง ตอนนั้นผมเป็น รอง ผบ.พล.ช.(๒) ทำหน้าที่ดูแลเรื่องนี้
                   ปี ๒๕๓๔ มีการเปลี่ยนแบบถนนเป็นคอนกรีตทั้งหมด โดยปรับให้เป็นแบบเดียวกันและให้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน อาคารบ้านพักได้แบ่งสรรให้หน่วยต่างๆ ภายในค่ายฯ ๒ และจัดสรรเป็นอาคารส่วนกลางไว้ให้หน่วยในค่ายฯ ๑ ด้วย
                   ส่วน รร.ทบอ.บูรณวิทยา ได้จัดตั้งขึ้นในปี ๒๕๑๗ พล.ต.เทียบ บูรณสิงห์ (ยศในขณะนั้น) เป็น จก.กช. โดย จก.กช. เป็นผู้ถือใบอนุญาตในการจัดตั้ง และอยู่ในความดูแลของ ช.๑ รอ. (ขณะนั้น พ.อ.โสภณ นาลินทม เป็น ผบ.ช.๑ รอ.และ ผจก.รร.ทบอ.ฯ) มีลักษณะเป็นโรงเรียนราษฎร์ ภายหลัง ช.๑๑ จัดตั้งขึ้นในปี ๒๕๒๓ จึงได้ย้ายมาขึ้นอยู่ในความดูแลของ ช.๑๑ โดยมี ผบ.ช.๑๑ เป็น ผจก. และ จก.กช. เป็นผู้ถือใบอนุญาตจัดตั้ง และมีการพัฒนาเรื่อยมา กิจการบางครั้งซบเซาเพราะมีเด็กน้อย ต่อมาในปี ๒๕๒๙ - ๒๕๓๐ ได้ส่งเข้าประกวดโรงเรียนพระราชทาน ในปี ๒๕๓๒ ก็ส่งเข้าประกวดโรงเรียนพระราชทานอีกครั้ง และได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทานในปี ๒๕๓๓ ปี ๒๕๔๑ สร้างโรงยิมของค่ายฯ ๒ ภายใน รร.ทบอ.ฯ ปัจจุบัน รร.ทบอ.ฯ มีผู้เข้ารับการศึกษาเป็นจำนวนมาก
                   สนามกอล์ฟภาณุรังษี สร้างขึ้นในปี ๒๕๑๒ - ๒๕๑๓ เริ่มขยายตั้งแต่ ๑ หลุม ไปจนถึง ๖ หลุม ในปี ๒๕๑๘ ขยายสนามกอล์ฟเป็น ๙ หลุม โดยมี พ.ท.ธงชัย เชื้อสนิทอินทร์ เป็นหลักในการดำเนินการ ต่อมาในปี ๒๕๓๓ พ.อ.อาภรณ์ กุลพงษ์ รับผิดชอบเฉลี่ยงบประมาณจากหน่วยต่าง ๆ และปรับปรุงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ศูนย์กีฬา กช. ได้เริ่มวางผังในปี ๒๕๓๐ ในปี ๒๕๓๕ สร้างอัฒจันทร์ สระว่ายน้ำ สาเหตุที่สร้างสระว่ายน้ำเนื่องจากบุตรหลานสอบอะไรไม่ได้เพราะสอบตกว่ายน้ำ จึงสร้างสระว่ายน้ำขึ้นเพื่อให้บุตรหลานได้หัดว่ายน้ำ สระว่ายน้ำ ๓๔ ได้ออกแบบสร้าง งบประมาณที่คิดครั้งแรก ๑,๘๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่พอสร้าง เสร็จแล้วใช้งบประมาณทั้งสิ้น ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยมี พ.อ.จรัล วรพงศ์ และ พ.ต.สมเกียรติ ระย้าแก้ว สร้าง โดยนำแบบ มาจากกรุงเทพฯ ส่วนรั้วรอบค่ายบางส่วนมีมาก่อนแล้ว ส่วนที่เหลือด้านทิศตะวันตก ด้านหลังค่าย ของบประมาณปี ๒๕๓๖
                   จากคำบอกเล่าของอดีตผู้บังคับบัญชา ทั้ง ๓ ท่าน ทำให้สามารถเชื่อมโยงห้วงเวลาที่ขาดหายไปจากอดีตมาสู่ปัจจุบันได้ อย่างน้อยเราก็พอมองเห็นภาพความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างกันดาร ในยุคแรก ๆ ก่อนจะพัฒนามาถึงยุคนี้ ที่มีทุกอย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นอาคารสถานที่ กว้างขวาง สะดวกสบาย ถนนหนทางลาดยางที่เชื่อมต่อกันทุกเส้นทางทั่วค่าย ระบบสาธารณูปโภคที่ สมบูรณ์พร้อม รวมถึงสนามกีฬาทุกประเภทที่สามารถรองรับการแข่งขันใน ระดับชาติได้เป็นอย่างดี
                   ทุกคนต้องทำงานหนัก เพื่อสร้างศักยภาพให้กับหน่วย เราต้องไม่ลืมว่า ก่อนจะมาถึงวันนี้ บรรพบุรุษของเราได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ อย่างเต็มความสามารถ จนทำให้กองทัพบกมอบหมายภารกิจในการพัฒนาประเทศให้กับทหารช่าง และขยายหน่วยต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งกองพลทหารช่างได้รับการก่อตั้งขึ้นก็เพื่อตอบสนองความสำเร็จในภารกิจดังกล่าว

 

 
 
  
กรมการทหารช่าง          ค่ายภาณุรังษี
ต.โคกหม้อ  อ.เมือง  จ.ราชบุรี  70000
จัดทำ/เผยแพร่โดย ส่วนปฏิบัติการระบบเครือข่ายฯ  ศทท.กช.
webmaster  ::  kittikraimanee@gmail.com   ทบ. 53105