Tsunami    Undersea    Memorial   ( รูปแบบไฟล์    )

                     สึนามิ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่คนไทยไม่เคยรู้จัก จนกระทั่ง ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ ได้เกิดเหตุภัยพิบัติคลื่นยักษ์ "สึนามิ" ซัดถล่มชายฝั่งอันดามัน ๖ จังหวัดภาคใต้ เป็นโศกนาฏกรรมร้ายแรงสุดของไทยที่ต้องจารึกและบันทึกไว้จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า ๒ ปี ภาพความโศกเศร้าก็ยังไม่จางหาย

             

                     ทหารช่างเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ได้จัดกำลังพล และยุทโธปกรณ์ เข้าให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยเข้าร่วมค้นหาผู้เสียชีวิต และเก็บกู้ซากปรักหักพังของอาคารบ้านเรือน โรงแรม รีสอร์ท รวมทั้งก่อสร้างอาคารที่พักให้กับผู้ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งในปัจจุบันก็ยังดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนที่ประสบภัยสึนามิอยู่          
                     ชมรมกีฬาทางน้ำ ศูนย์กีฬากรมการทหารช่าง จว.ราชบุรี ได้รับภารกิจในการจัดนักดำน้ำร่วมค้นหา และเก็บกู้ยานพาหนะ และผู้เสียชีวิตที่บ้านบางเนียง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา หลังจากนั้นได้เข้าร่วมกับกรมขนส่งทางน้ำ และพาณิชย์นาวี กระทรวงคมนาคม ค้นหา เก็บกู้ซากเรือ และสิ่งกีดขวางใต้น้ำ บริเวณเกาะพีพี จังหวัดกระบี่ เป็นระยะเวลากว่า ๓ เดือน ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญอีกภารกิจหนึ่งที่ทหารช่างต้องปฏิบัติร่วมกับนักดำน้ำอาสาสมัคร หลังเกิดเหตุการณ์ รัฐบาลไทยได้ริเริ่มให้มีการจัดสร้างอนุสรณ์เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สึนามิที่เกิดขึ้น ณ บริเวณหาดเล็ก อุทยานแห่งชาติ เขาหลัก – ลำรู่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะประมวลความรู้ความเข้าใจ และบทเรียนจากเหตุการณ์สึนามิที่ผ่านมา เป็นแหล่งศึกษาเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ และเป็นอนุสรณ์สถานเตือนใจให้เราร่วมกันรำลึกถึงผู้สูญเสียในเหตุการณ์ และเป็นเครื่องหมายเตือนใจให้เราดำเนินชีวิตต่อไปในวันข้างหน้าด้วยความไม่ประมาท และจากการที่กระทรวงคมนาคม ได้ปฏิบัติภารกิจข้างต้น จึงได้มีแนวคิดที่จะจัดทำอนุสาวรีย์ สึนามิ (ใต้น้ำ) ขึ้น จึงได้ขอรับการสนับสนุนกำลังพล และเครื่องมือช่างในการดำเนินงานไปยังกองทัพบก ซึ่งกองทัพบกได้มอบหมายให้กรมการทหารช่างเป็นหน่วยดำเนินการ รวมทั้งได้สนับสนุนนักดำน้ำจากชมรมกีฬาทางน้ำร่วมภารกิจในครั้งนี้

             

                     วัตถุประสงค์ของโครงการ          
                            ๑. เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานสึนามิ (ใต้น้ำ) รำลึกถึงเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดขึ้น          
                            ๒. เพื่อเป็นการไว้อาลัยแด่นักดำน้ำที่เสียชีวิต และสูญหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว          
                            ๓. เพื่อเป็นเครื่องหมายเตือนใจให้มนุษย์ดำเนินชีวิตต่อไปในวันข้างหน้าด้วยความไม่ประมาท          
                            ๔. เพื่อเป็นสถานที่ดำน้ำแห่งใหม่ ของนักท่องเที่ยวดำน้ำทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ    
     

                     สถานที่ก่อสร้าง บริเวณหัวอ่าวต้นไทร เกาะพีพี อ.เมือง จ.กระบี่ ที่ความลึกประมาณ ๑๕ – ๒๐ ม.          

                     ชุดปฏิบัติงาน นักดำน้ำจาก กรมการทหารช่าง ,นักดำน้ำอาสาสมัครจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี กระทรวงคมนาคม

                     ระยะเวลาดำเนินการ ๓ – ๒๑ ก.ย.๔๙

                     รูปแบบของอนุสาวรีย์          
                            
- ตัวอนุสรณ์ จัดทำโดยหินแกรนิตชนิดหินดำอินเดีย จำนวน ๓ แท่ง รูปทรงคล้ายปิรามิดตัดยอด ฐานล่างเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้าง ๑๕๐ ซม. ยาว ๑๕๐ ซม. สูง ๑๘๐ ซม. สอบเข้าด้านบนเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้าง ๕๐ ซม. ยาว ๕๐ ซม. หนัก ๔ ตัน แต่ละด้านของหินแกรนิตมีคำจารึกเพื่อไว้อาลัยจากชาติต่าง ๆ พร้อมธงชาติของประเทศ ที่ร่วมส่งบทความไว้อาลัยเป็นภาษาของประเทศนั้น ๆ จำนวน ๑๑ ประเทศ ประกอบด้วย สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลีใต้ สมาพันธรัฐสวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน ฝรั่งเศส สาธารณรัฐเยอรมัน ฟินแลนด์ อิตาลี สเปน เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ค ที่ใต้แท่นหิน จะมีคำจารึกปรัชญาชีวิตของนักปราชญ์จากทั่วโลก เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจในการดำรงชีวิตอยู่ของมนุษย์          
                            - แท่นกลาง เป็นหินแกรนิตชนิดเดียวกัน มองด้านบนเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้าง ๘๐ ซม. X ๘๐ ซม. มีคำไว้อาลัยของประเทศไทย          
                            - บ้านทรงไทย วางอยู่ด้านทิศเหนือของอนุสาวรีย์สึนามิ

             

                     ความหมายของการจัดวาง          
                          
  - แท่นหินแกรนิตทั้ง ๓ แท่งที่เรียงตัวกันเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า เปรียบเสมือนแท่งหิน ซึ่งเป็นตัวแทนแห่ง “ ดิน ” , “ น้ำ ” และ “ อากาศ ” เปรียบเสมือนโลกของเรา ที่ประกอบขึ้นด้วย พื้นดิน น้ำ และอากาศ พื้นดินเป็นแหล่งกำเนิดของป่าเขาลำเนาไพร พืชพันธุ์ธัญญาหาร แม่น้ำลำคลอง สัตว์ป่า และอาหาร ส่วนน้ำ ก็เป็นแหล่งกำเนิดของสรรพชีวิต ทรัพยากรใต้น้ำ อาหาร สัตว์น้ำ และยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในการอุปโภคและบริโภคของมนุษย์และบรรดาสรรพสัตว์ใหญ่น้อยบนโลกใบนี้ ส่วนอากาศ เป็นสิ่งซึ่งมนุษย์และสรรพสัตว์ใช้ในการหายใจเพื่อดำรงชีพ ความยาวแต่ละด้านเท่ากับ ๕ , ๓๙๕ ซม. แปลความหมายถึง ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิ เฉพาะในประเทศไทยในครั้งนั้น มีจำนวนรวมทั้งสิ้น ๕ , ๓๙๕ คน          
                            - วางเรียงตัวเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า เปรียบเสมือน วามสมดุล ระหว่าง ดิน น้ำ และอากาศ ซึ่งต่างมีระบบนิเวศพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จะขาดหรือเสียสมดุลในสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปเสียไม่ได้ ซึ่งเปรียบได้กับ “ สามเหลี่ยมแห่งความสมดุล ”          
                     แท่นหินตรงกลาง เปรียบเสมือนมนุษย์ ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางของโลกใบนี้ อาศัยอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมของ ดิน น้ำ และ อากาศ มนุษย์เป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลาย หากมนุษย์ทำลายความสมดุล ทำลายความเป็นธรรมชาติและระบบนิเวศของ ดิน น้ำ และอากาศ แล้ว ก็จักทำให้เกิดภัยธรรมชาติย้อนกลับมาทำลายมนุษย์นั่นเอง            
                            - บ้านทรงไทย บ้าน คือ สถานที่ที่มีความสุขที่สุดของมนุษย์ ดังนั้นการสร้างบ้านไว้ที่อนุสรณ์สถานแห่งนี้ ก็เพื่อให้เป็นที่พักผ่อนอันเป็นนิรันดร์ของดวงวิญญาณทุกดวงที่สูญเสียในเหตุการณ์สึนามิครั้งนี้ และเหตุที่เป็นบ้านทรงไทย ก็เพื่อแสดงถึงสัญลักษณ์ และเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ระยะห่างระหว่างบ้านทรงไทยและอนุสรณ์สถาน คือ ๒,๘๗๔ ซม. หมายถึงยอดผู้เสียชีวิตที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นใคร สัญชาติใด ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น ๒,๘๗๔ คน          
                            - อนุสาวรีย์สึนามิ (ใต้น้ำ) แห่งนี้ เป็นอนุสาวรีย์ใต้น้ำแห่งแรกของโลก ที่ถือเป็นอนุสรณ์สถานของมวลประชาชาติที่ต้องประสบความสูญเสียจากมหันตภัยสึนามิร่วมกัน ขณะนี้ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวดำน้ำทั้งไทยและต่างประเทศ ได้สัมผัสบรรยากาศแล้ว ตั้งแต่วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นต้นมา โดยในวันกระทำพิธีเปิด ฯ นั้น มีนักดำน้ำทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศร่วมเขียนคำไว้อาลัยแสดงความรำลึกถึงผู้จากไป นำไปติดตั้งไว้ ณ บ้านแสนสุขเป็นจำนวนมาก นับเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในด้านการท่องเที่ยวอีกมิติหนึ่ง          
                     โครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์ใต้น้ำนี้ เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่กองทัพบกได้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ ในการร่วมสร้างสรรค์ พัฒนา เพื่อชาติและประชาชน

 

“ ประเทศชาติก้าวไกล .........ประชาไทยมั่นคง ”

 

เรื่อง/ภาพ โดย......ชมรมกีฬาทางน้ำ ศูนย์กีฬา กช.

 

 

 

 

ส่วนปฏิบัติการฯ ศทท.กช.
จัดทำ และเผยแพร่โดย  :  ส่วนปฏิบัติการฯ ศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลสารสนเทศ  กรมการทหารช่าง  ค่ายภาณุรังษี   อ.เมือง  จ.ราชบุรี  ๗๐๐๐๐
โทรศัพท์ ๐ - ๓๒๓๓ - ๒๕๒๒  , ทบ. ๕๓๑๐๕
       E-Mail ::  info@tahanchang.com , webmaster@tahanchang.com