โอ่งราชบุรีทำไมต้องเขียนลายมังกร

  คนจีนซึ่งเคยทำเครื่องปั้นดินเผามาก่อนจากเมืองจีน  ได้มาริเริ่มทำโอ่ง อ่าง ไห ขาย  
จีนรุ่นบุกเบิกชื่อ  นายจือเหม็ง  แซ่อึ้งและพรรคพวก  ได้รวบรวมทุนได้  3,000  บาท  ตั้งโรงงานเถ้าเซ่งหลีขึ้น
 เป็นครั้งแรกในปี  ..  2476  เป็นโรงงานขนาดเล็กบริเวณสนามบินอยู่ตรงข้ามโรงเรียนอนุบาลราชบุรีเดี๋ยวนี้  
 แหล่งดินสีแดงที่ราชบุรีก็ค่อนข้างจะมีคุณภาพเหมือนที่เมืองจีน  ดังนั้น  จากเดิมเราใช้โอ่งอ่างไหจากเมืองจีน
 ผู้ริเริ่มก็ทำอ่าง  ไห  กระปุก  และโอ่งบ้างเล็กน้อย  ให้ชาวมอญราชบุรีใส่เรือไปเร่ขาย
การทำโอ่งได้ริเริ่มอย่างจริงจังก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่  2  ดินขาวที่ใช้แต่งลวดลายเดิมได้มาจากเมืองจีน
ต่อมาได้หาทดแทนจากดินที่ท่าใหม่จันทบุรี  และสุราษฏร์ธานี  
 เมื่อกิจการรุ่งเรืองขึ้น  โรงงานจึงขยายกิจการและผลิตโอ่งเพิ่มมากขึ้น
หุ้นส่วนหลายคนแยกตัวไปตั้งโรงงานเอง  โดยเฉพาะในจังหวัดราชบุรี
ปัจจุบันมีโรงงานผลิตโอ่งอยู่ถึง  42  แห่ง  และเป็นโรงงานผลิตเครื่องเคลือบรูปแบบต่าง ๆ  ออกไปอีก  17  แห่งตามจังหวัดอื่น ๆ ที่แยกไปจากนี้  คือ  ที่อำเภอ
หาดใหญ่  จังหวัดสงขลา  จังหวัดชลบุรีและในกรุงเทพมหานครบริเวณ     สามเสน  เป็นต้น
เจ้าของโรงงาน  ช่างปั้น  และประชาชนส่วนใหญ่ของจังหวัดราชบุรี  เมื่อครึ่งศตวรรษมาแล้วล้วนเป็นลูกหลานจีน  ดังนั้นช่างปั้นจึงได้คิดคัดเลือกลวดลายที่เป็นมงคล  และมี
ความหมายที่ดี  เพื่อให้เกิดความรู้สุกที่ดีต่อผู้ใช้  นอกเหนือจากความงามเพียงอย่างเดียว  ที่สุดก็ได้เลือกสรรลวดลายมังกร  ซึ่งแฝงและฝังไว้ด้วยความหมายตามความเชื่อ
คตินิยมในวัฒนธรรมจีน
ลวดลายมังกรดั้นเมฆ  มังกรคาบแก้ว  และมังกรสองตัวเกี่ยวพันกัน  ล้วนเป็นสัตว์สำคัญในเทพนิยายของจีน  เป็นเทพแห่งพลัง  แห่งความดี  และแห่งชีวิต  ช่างปั้นเลือกเอา
มังกรที่มี 3 เล็บหรือ 4 เล็บ   เป็นลวดลายตกแต่งโอ่ง  ช่างผู้ชำนาญปาดเนื้อดินด้วยหัวแม่มือเป็นรูปมังกร โดยไม่ต้องร่างแบบ  ขีดเป็นลายมังกรด้วยปลายซี่หวี  เป็นหนวด นิ้ว
เล็บ ส่วนเกล็ดมังกรหยักด้วยแผ่นสังกะสีแล้วเน้นลูกตาให้เด่นออกมา
 
มารู้จักมังกรซิครับ

พญานาค                

เป็นชื่อที่คนไทยเรียก

มังกร                     เป็นชื่อที่คนจีน ญี่ปุ่น เกาหลีและญวนใช้เรียก
      จึงผิดกันเฉพาะรูปร่างหน้าตาและชื่อที่เรียกเท่านั้น ไทยเราไม่เรียก แล้ง เล่ง หรือ หลง ตามภาษาจีน แต่เรียกมังกร  มาจากบาลีสันสกฤตว่า มกร หรืออย่างไร   ก็ไม่ทราบ
ว่าถึงรูปร่างมกรก็เป็นอีกแบบหนึ่งไม่เหมือนรูปเล่งของจีน  ในหนังสือตำราพิชัยสงคราม สมัยรัชกาลที่ 2 มีการจัดขบวนทัพข้ามน้ำเรียกว่า  มังกรพยุหะ ก็เขียนรูปมังกรคล้าย
พญานาค เพียงแต่เพิ่มเขาและเท้าเข้าไปเท่านั้น  บางตัวก็มีเกล็ด  บางตัวก็มีลายแบบงู  ความจริงรูปร่างมังกรแบบจีน  คนไทยก็คงเคยเห็นมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้วใน
สมัยรัตนโกสินทร์ก็ใช้เป็นลายประดับตามประตู  และสลักบนแผ่นหินหลายแห่งรูปมังกรของจีนคงจะได้แพร่หลายไปตามภาชนะพวกถ้วยชามโอ่งไห  ดังได้พบบนลายโอ่ง
สมัยราชวงศ์ถังที่พบในแม่น้ำลำคลอง
ความจริงแล้วเรื่องของมังกร  พญานาค  งู  ปลา  จระเข้  มีเรื่องพัวพันกันชอบกลเรื่องของจีนที่เกิดสมัยที่นับถือพระพุทธศาสนาแล้ว  ไทยแปลคำว่า  เล้ง  เล่ง  หลง  เป็น
พญานาคหมด  ทำให้คนไทยเข้าใจเรื่องดีขึ้น  และไทยก็เอารูปมังกรมาเขียนเป็นเป็นแบบไทย ๆ  คล้ายพญานาคดังกล่าวมาแล้ว
        ในหนังสือประวัติวัฒนธรรมจีนได้กล่าวถึงกำเนิดมังกรไว้เป็นความว่า  มังกรเกิดขึ้นในสมัยอึ่งตี่หรือหวงตี้  ได้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องหมายประจำชาติจีน  เพราะ
สมัยโบราณมนุษย์นิยมใช้รูปสัตว์หรือดอกไม้เป็นเครื่องหมายประจำเผ่าของตน  ชาติจีนที่ได้รวมขึ้นเป็นชาติใหม่  จึงควรมีเครื่องหมายประจำชาติใหม่  กษัตริย์อึ่งตี่จึงนำ
ส่วนต่าง ๆ  ของสัญลักษณ์ที่แต่ละเผ่าเคยใช้มารวมกัน  คือนำหัวของสัญลักษณ์ชนเผ่าวัว  ลำตัวของเผ่างู  เกล็ดหางของเผ่าปลา  เขาของเผ่ากวาง  และเท้าของเผ่านก  นำ
ส่วนต่าง ๆ  เหล่านี้มาปรุงเป็นรูปสัตว์ชนิดใหม่ขึ้นเรียกว่า  เล้ง  หรือมังกร
 มังกรมีเล็บไม่เท่ากัน  มังกรผู้ยิ่งใหญ่หรือระดับหัวหน้าจะมี 5 เล็บ  และรูปมังกรที่ฉลองพระองค์ของจักรพรรดิจะมีเล็บมากกว่ามังกรธรรมดา  คือ ธรรมดามีเพียง 4 เล็บ 
รูปมังกรที่ฉลองพระองค์ก็จะมี 5 เล็บ  และใช้เป็นเครื่องหมายของราชวงศ์ที่มียศสูงสุดส่วนพวกเจ้าชั้นที่ 3 ที่ 4  หรือขุนนางใช้เป็นเครื่องหมายได้เพียงมังกรชนิดชนิด 4
เล็บเท่านั้น  ส่วนการประดับตกแต่งทั่ว ๆ  ไปก็จะใช้มังกรชนิด 3 เล็บเป็นพื้น  มังกรชนิด 5 เล็บนั้นกล่าวว่าเล็บที่ 5 ไม่ได้เรียงกันแบบธรรมดา เล็บที่ 5 จะวางอยู่ตรงกลางฝ่า
เท้า
มังกรของจีน  นอกจากจะมีเขาแบบกวางแล้ว  ตัวผู้ยังมีหนวดมีเคราอีกด้วย  ตั้งแต่รัชกาล  เถาจื่อ  แห่งราชวงศ์ถัง ได้เริ่มใช้มังกร 5 เล็บ เป็นสัญลักษณ์ของจักรพรรดิ
มังกรมี 3 ชนิด  แต่แบ่งหน้าที่เป็น 4 พวก
           จีนได้แบ่งชนิดของมังกรออกเป็น 3 ชนิดด้วยกัน คือ

 หลง                              

เป็นพวกที่มีอำนาจมากที่สุด  มีนิสัยชอบอยู่บนฟ้า
หลี                                 เป็นพวกที่ไม่มีเขา  อาศัยอยู่ในมหาสมุทร
เจียว                              เป็นพวกมีเกล็ด  อยู่ตามลุ่มหนองหรือถ้ำในภูเขา
           ที่รู้จักกันมากคือ  หลง  ซึ่งมีส่วนต่าง ๆ  ของสัตว์ 9 อย่างดังกล่าวมาแล้ว
           มังกรของจีนมีหน้าที่แบ่งกันทำ  4  พวกด้วยกัน  คือ

มังกรสวรรค์                         

มีหน้าที่รักษาวิมานเทวดาและค้ำจุนวิมานไม่ให้พังลงมา                                                 

มังกรเทพหรือมังกรเจ้า       มีหน้าที่ให้ลมให้ฝนเพื่อประโยชน์ของมนุษย์
  มังกรพิภพ                         มีหน้าที่กำหนดเส้นทางดูแลแม่น้ำลำธาร
มังกรเฝ้าทรัพย์                  มีหน้าที่เฝ้าขุมทรัพย์ของแผ่นดิน

มีเรื่องน่าสังเกตว่า  หน้าที่ของมังกรไปตรงกับหน้าที่ของพญานาค  ซึ่งแบ่งออกเป็น   4  พวกเหมือนกัน

ไทยรู้จักมังกรมาตั้งแต่เมื่อไร
       อย่างต่ำที่สุดก็ พ..2276  ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ  มีรูปมังกรประดับพระเมรุด้วย  แต่รูปร่างจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ  มาเห็นรูป
ร่างมังกรในตำราพิชัยสงครามสมัยรัชกาลที่ 2 กรุงรัตนโกสินทร์ก็เป็นแบบไทย ๆ  คือคล้ายพญานาค  แต่ไม่มีหงอนสูง  มีเขา 2 เขา  มีครีบ  มีตีน
 

ทำไมรูปมังกรจึงต้องมีลูกแก้วด้วย

      ตามตำนานกล่าวว่า  มังกรมีไข่มุกมีค่าเท่ากับทองร้อยแท่งอยู่ในปาก  เมื่อมังกรต่อสู้กันอยู่บนอากาศ  ไข่มุกก็ตกลงมาบนพื้นดิน  ต้นเรื่องของมังกรคาบแก้วหรือเล่น

แก้วจะมาจากเรื่องนี้หรือเปล่าไม่ทราบ  แต่ฟังตามเรื่องแล้วมังกรชอบเพชนนิลจินดามาก  ตามภาพเขียนของจีนถ้าเป็นรูปมังกร  2  ตัวหันหน้าเข้าหากัน  ก็จะเป็นรูปกลม ๆ  สี
แดงอยู่ระหว่างมังกรทั้งสองนี้  บ้างก็ว่ารูปกลมแดงนั้นเป็นสัญลักษณ์แทนดวงอาทิตย์  ดวงจันทร์
 

ภูมิใจในคำขวัญ “เมืองโอ่งมังกร”

            ด้วยพื้นฐานของช่างปั้นซึ่งเป็นลูกหลานของคนจีน  เนื้อดินเหนียวเป็นวัตถุดิบชนิดดี  ช่างติดลายได้นำความสามารถเชิงศิลปะสะท้อนภาพชีวิตตามวัฒนธรรมจีน  มา
ผสมผสานกับเทคนิคการผลิตเป็นอุตสาหกรรม  อดีตจากท่าน้ำหน้าเมือง  โอ่งมังกรจะแพร่ไปทั่วตามแม่น้ำลำคลอง  ที่เรือขายโอ่งจะผ่านไปได้  จนปัจจุบันนี้  รถบรรทุกสิบล้อ
จะขนไปขายทั่วประเทศอย่างเนื่อง  ไม่ว่าเหนือจรดใต้  จนเป็นที่รู้จักว่าราชบุรีคือเมืองโอ่งมังกร
 
เมื่องานกีฬาเยาวชนครั้งที่ 5 และงานมหกรรมของดีเมืองราชบุรี  ปี 2532  จังหวัดได้สร้างคำขวัญเพื่อเผยแพร่ให้รู้จักจังหวัดราชบุรี  ว่า

 “คนสวยโพธาราม      คนงามบ้านโป่ง         เมืองโอ่งมังกร

วัดขนอนหนังใหญ่    ตื่นใจถ้ำงาม           ตลาดน้ำดำเนิน
 เพลินค้างคาวร้อยล้าน          ย่านยี่สกปลาดี”
 
ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหรมมพื้นบ้านของสำนักงานอุสาหกรรมจังหวัดราชบุรีสามารถพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมเซรามิกส์  เช่น  โรงงานเถ้าฮงไถ่ก็หันไปผลิตเครื่อง
ปั้นดินเผ่าประเภทออกแบบลวดลาย  สวยงามตามความต้องการของลูกค้าผลิตภัณฑ์จากโรงงานนี้ได้   มาตรฐานสามารถส่งออกไปจำหน่าย
 
ต่างประเทศได้  กรมศิลปากรเคยมาว่าจ้างให้ผลิตเครื่องปั้นดินเผ่าที่มีคุณค่าเพื่อใช้ในงานฉลอง  200  ปี  กรุงเทพมหานคร  ถ้วยชามเบญจรงค์เลียนแบบของเก่าก็มีผลิตที่
โรงงานรัตนโกสินทร์นักท่องเที่ยวที่ผ่านมาถึงราชบุรีก็อดใจซื้อติดมือกลับไปไม่ได้  ส่วนโรงงานสยามราชเครื่องเคลือบก็พัฒนาการผลิตเป็นแจกัน  เลียนแบบเครื่องสังคโลก 
แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมนัก  บางโรงงานก็ก้าวไปไกลหันไปผลิตถ้วยชามและของชำร่วย  เช่น  โรงงานเซรามิกส์บ้านโป่ง
 

ปัจจุบันบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  ความก้าวหน้าทางเทคนิคและวิทยาการของอุตสาหกรรม  มีการประดิษฐ์วัตถุภัณฑ์ใหม่ ๆ  ขึ้นมาใช้แทนไหโอ่งมากขึ้นประกอบ

กับเริ่มมีปัญหาเรื่องปิดป่าหาฟืนยาก  จนถึงกับต้องตั้งเป็นสมาคมโรงงานสมาชิกต้องร่วมใจกันเสียสละปลูกป่าทดแทนในเขตสัมปทานโดยเฉพาะ  พร้อมกันนั้นต้องหันมาใช้
แก๊สช่วยในการเผาไหม้  นับเป็นผลกระทบต่อธุรกิจการค้าของโรงงาน
อย่างไรก็ตาม  โอ่งลายมังกรเมืองราชบุรี  คงจะเป็นสินค้าออกของจังหวัดไปอีกนานทีเดียว
 
การทำโอ่งมังกรมีด้วยกัน  ๕  ขั้นตอน ครับ
   
    ขั้นตอนที่  ๑         การเตรียมดิน  เนื้อดินสีน้ำตาลแดงที่ได้จากท้องนาทั่วไปในจังหวัดราชบุรีเป็นเนื้อดินเหนียวที่มีคุณภาพดีเยี่ยม  มีความละเอียดเหนียวเกาะตัวกันได้ดีนำมาหมักไว้ในบ่อดิน  แช่น้ำทิ้งไว้  ๑  สัปดาห์เพื่อให้น้ำซึมเข้าในเนื้อดินให้ดินอ่อนตัวทั่วถึงกันและเป็นการทำความสะอาดดินไปในตัวด้วย  หลังจากนั้นตักดินขึ้นมากองไว้  แทงหรือตักดินด้วยเหล็กลวดให้เป็นก้อน  นำเข้าเครื่องโม่หรือเครื่องนวดเพื่อให้เนื้อดินเข้ากัน  แล้วใช้เหล็กลวดหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  ลวดตัวเก็ง  ตักดินที่โม่แล้วให้เป็นก้อนมีขนาดเหมาะพบกับการปั้นงานแต่ละชิ้นนำมานวด  โดยผสมทรายละเอียดเล็กน้อยอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้โอ่งมังกรมีเนื้อที่แกร่งและคงทนยิ่งขึ้น
   
 
 
 
 
 
 

ขั้นตอนที่  ๒        การขึ้นรูปหรือการปั้น  แบ่งออกเป็นสามส่วน  คือ

                                ส่วนขาหรือส่วนกัน  โดยการนำดินที่ผ่านการนวดให้เป็นเส้นแล้วมีความยาวประมาณ  ๓๐  เซลติเมตร  วางลงบนแผ่นไม้  ซึ่งวางบนแป้น  ก่อนวางต้องใช้ขี้เถ้าโยเสียก่อนเพื่อไม่ให้ดินติดกับแผ่นไม้และสะดวกต่อการยกลง  เนื้อดินส่วนนี้มีลักษณะเป็นก้อนกลมหรือก้อนสี่เหลี่ยมแผ่ออกเป็นวงกลม  เส้นผ่าศูนย์กลางตามขนาดของโอ่งที่ต้องการ  จากนั้นนำดินเส้นมาวางต่อกันเป็นชั้นเรียนกว่า  การต่อเส้น  เมื่อปั้นตัวโอ่งและยกลงจากแป้นแล้ว  ตบแต่งผิวด้านนอกและ  ด้านใน  โดยการขูดดินที่ไม่เสมอกันออกให้ผิวเรียบ  แล้วใช้ลูบเพื่อให้ผิวเนียนอีกครั้งหนึ่ง

                                ส่วนลำตัว  นำตัวขาหรือส่วนก้นที่แห้งพอหมาดมาวางบนแป้นที่มีขนาดเตี้ยกว่าแป้นที่ปั้นส่วนขา  ตบแต่งผิวอีกครั้งด้วยฮุยหลุบและไม้ตี  นำดินเส้นมาวางต่อกันเป็นชั้นสำหรับส่วนสำตัวทำนองเดียวกับส่วนขา  วัดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางให้ได้ตามต้องการ  ใช้ไม้ต๊าขุดดินและแต่งผิวให้เรียบ  ทิ้งไว้พอหมาด

                                ส่วนปาก  ลักษณะการต่อเส้นคล้ายกับสองส่วนแรก  แป้นมีขนาดเตี้ยลงอีกก่อนจะต่อเส้นต้องตบแต่งผิวส่วนลำตัวและส่วนขาด้วยไม้ต๊าเสียก่อน  ใช้ดินเส้นประมาณห้าเส้นวัดความสูงได้ประมาณ  ๗๐  เซนติเมตร  ใช้พองน้ำลูบผิวให้เรียบ  จากนั้นใช้ผ้าด้ายดิบชุบน้ำลูบส่วนบน  พร้อมกับบีบหรือกดให้ขึ้นเป็นรูปขอบปากโอ่ง  ใช้ไม้ต๊าตบแต่งให้เรียบเสมอกันอีกครั้งหนึ่ง  ยกไปวางผึ่งให้เป็นระเบียบ  เพื่อรอการทำในขั้นต่อไป  สำหรับการยกลงจากแป้นนั้นต้องใช้ช่างปั้นสองคนช่วยกันยกด้วยเชือกหาม  เป็นเชือกที่นำมามัดไขว้กันเป็นวงกลมให้มีขนาดเท่ากับตัวโอ่งพอดี  ปล่อยปลายยาวทั้งสองด้านสำหรับจับยกหาม  สำหรับส่วนปากซึ่งทำไว้เป็นจำนวนมากนั้น  ถ้าทิ้งไว้นานก่อนถึงขั้นตอนการเขียนลายจะทำให้แห้งเกินไป  จึงต้องทำให้อยู่ในสภาพเปียกหมาดๆ  อยู่เสมอ  โดยใช้พลาสติกคลุมไว้  การขึ้นรูปโอ่งแต่ละใบใช้เวลาประมาณ   ๒๐ -  ๓๐ นาที

 

   
 
 
 
 

ขั้นตอนที่  ๓        การเขียนลาย  ก่อนที่จะนำโอ่งมาเขียนลาย  ต้องตบแต่งผิวให้เรียบเสียก่อนด้วยฮุ่ยหลุบและไม้ตี  โอ่งที่ตบแต่งผิวเรียบร้อยแล้วจะต้องนำมาเขียนลายทันทีเพราะถ้าทิ้งไว้เนื้อดินจะแห้งทำให้เขียนลายไม่ได้  สำหรับแป้นที่ช่างใช้เขียนลายนั้นจะต้องเป็นแป้นไม้หมุน  ขณะเขียนลายลงบนตัวโอ่งช่างจะใช้เท้าถีบที่แกนหมุนไปเรื่อยๆ  จนกว่าจะเขียนเสร็จ  วัสดุที่ใช้เขียนลายเป็นดินเนื้อละเอียดผสมกับดินขาวเรียกว่า  ดินติดดอก  มีสีนวล  ดินขาวนั้นได้มาจากจังหวัดจันทบุรีหรือสุราษฎร์ธานี  ซึ่งมีคุณภาพดี  เหมาะสำหรับการนำมาเป็นดินติดดอกบนตัวโอ่งราชบุรี  ช่างเขียนลายจะใช้ดินสีนวลนี้ปาดด้วยมือเป็นเส้นเล็กๆ  รอบตัวโอ่งแบ่งเป็นสามตอนหรือสามช่วง  คือช่วงปากโอ่งลำตัวและส่วนเชิงล่างของโอ่ง  ในแต่ละตอนแตะละช่างจะมีลวดลายที่ไม่เหมือนกัน

                ช่วงปากโอ่ง  นิยมเขียนลายดอกไม้  หรือลายเครือเถา  ใช้วีที่เรียกว่าพิมพ์ลาย  นำกระดาษฉลุลายวางทาบบนโอ่งแล้วปาดด้วยดินติดดอก  ใบหนึ่งๆ  จะมีประมาณ  ๔  ช่วงตัวแบบ

                ช่วงลำตัว  นิยมเขียนรูปมังกรมีทั้งมังกรดั้นเมฆ  มังกรคาบแก้ว  และมังกรสองตัวเกี่ยวกัน  ช่างเขียนลายจะเป็นผู้ที่ชำนาญมาก  ปาดเนื้อดินด้วยหัวแม่มือเป็นรูปร่างมังกรอย่างคร่าวๆ  โดยไม่ต้องมีแบบร่างก่อน  จากนั้นจะใช้ปลายหวีขีดเป็นตัวมังกรใช้ซี่หวีตกแต่งเป็นส่วนหนวด  นิ้วและเล็บสำหรับเกล็ดมังกรใช้สังกะสีที่ตัดปลายหยักไปมาบนตัวมังกร  และเน้นส่วนลูกตาของมังกรให้มีความนูนเด่นออกมา

                ช่วงเชิงล่างของโอ่ง  ใช้วิธีการติดลายคล้ายกับส่วนปาก  จากนั้นใช้น้ำลูบที่ลายทั้งหมด  เพื่อให้ลายมีผิวเรียบเสมอกันและลื่น  เป็นการเตรียมสู่ขั้นตอนการเคลือบและเผาต่อไปโอ่งแต่ละใบช่างผู้ชำนาญจะใช้เวลาการเขียนลายประมาณ  ๑๐  นาที

 

   
 ขั้นตอนที่  ๔        การเคลือบ  น้ำยาที่ใช้ในการเคลือบเป็นส่วนผสมของขี้เถ้าและน้ำโคลนหรือเลนและสีเล็กน้อย  ซึ่งเป็นสีที่ได้จากออกไซด์ของเหล็ก  ส่วนใหญ่มีสีน้ำตาลเข้มการเคลือบจะนำโอ่งไปวางหงายในกระทะขนาดใหญ่  หรือกระทะในบัว  ใช้น้ำยาเคลือบเทราดให้ทั่วทั้งด้านในและด้านนอก  แล้วจึงนำไปวางผึ่งลมไว้  โอ่งที่เคลือบน้ำยานั้น  นอกจากจะทำให้เกิดสีสันสวยงานเป็นมันเมื่อเผาแล้ว  ยังช่วยในการสมานรอยต่างๆ  ในเนื้อดินให้เข้ากัน  เมื่อนำไปใส่น้ำจะไม่ทำให้น้ำซึมออกมาด้านนอกด้วย
   
 
 
 
 

 ขั้นตอนที่  ๕        การเผา  เตาเผาโอ่งมังกรเรียกว่า  เตาจีนหรือเตามังกง   ก่อด้วยอิฐทนไฟเป็นรูปยาว  ด้านหัวเตาเจาะเป็นช่องประตูสำหรับเป็นทางลำเลียงโอ่งและภาชนะดินเผาอื่นๆ  ด้านบนของเตาทั้งสองด้านเจาะรูเป็นระยะ  เรียกว่า  “ตา”  เพื่อใช้ใส่เชื้อเพลิงคือฟืนปัจจุบันใช้ฟืนไม้กระถิน  ลักษณะของเตามังกรนี้ด้านหนึ่งอยู่ระดับเดียวกับพื้นดินใช้เป็นหัวเตาสำหรับก่อไฟ  อีกด้านหนึ่งสูงกว่าเพราะต้องทำให้ตัวเตาเอียงลาด  เป็นส่วนก้นของเตา  ใช้เป็นปล่องระบายควัน

                ก่อนการสำเลียงโอ่งเข้าเตาเผา  ต้องเกลี่ยพื้นเตาในให้เรียบเสมอกันก่อนแล้วจึงจัดวางโอ่งให้เป็นระเบียบ  การวางโอ่งซ้อนกันจะมีแผ่นเคลือบเรียนว่า  “กวยจักร”  เป็นตัวรองไว้  นอกจากตัวโอ่งแล้วถ้ายังมีที่ว่างเหลือก็จะนำไห  ชาม  กระถาง  ที่มีขนาดเล็กมาวางเผาพร้อมกัน  สำหรับภาชนะขนาดเล็กมีดินรองที่ปากซึ่งเป็นดินเหนียวผสมทราย  เมื่อลำเลียงโอ่งเข้าประตูเตาแล้ว  ก่อนเผาจะต้องใช้อิฐปิดทางให้มิดชิด  เพื่อมิให้ความร้อนระบายออกได้  เตาขนาดใหญ่สามารถจุโอ่งได้คราวละ  ๓๐๐ – ๔๐๐  ใบ  หรือสามารถนำออกบรรทุกรถขนาดใหญ่ได้เตาละ  ๕  คัน

                การจุดไฟต้องเริ่มจุดที่หัวเตาก่อน  เมื่อติดดีแล้วทยอยใส่ฟืนที่ช่องเตาทั้งสองด้าน  ความร้อนในเตาต้องมีอุณหภูมิถึง  ๑,๒๐๐0  การดูว่าโอ่งนั้นเผาสุกได้ที่หรือยังต้องดูตามช่องใส่ฟืนและต้องดูจากชั้นต่ำสุดก่อน  หากยังไม่สุกดีก็ต้องเติมไฟลงไปอีก  ถ้าสุกดีแล้วก็ใช้อิฐปิดช่องนั้น  และดูช่องถัดไปตามลำดับด้วยวิธีเดียวกัน  จนกว่าจะสุกทั่วทั้งเตาจึงเลิกใส่ฟืน  แล้วปล่อยให้ไฟดับเอง  ทิ้งไว้ประมาณ  ๑๐ – ๑๒  ชั่วโมง  ความร้อยในเตาจะค่อยลดลงจนสามารถเปิดช่องประตูเตานำโอ่งออกมาได้

                วันหนึ่งๆ  มีโอ่งมังกรนับหมื่นใบถูกลำเลียงออกไปขายทั่งประเทศ  จากเส้นทางสัญจรทางน้ำมาเป็นทางหลวงแผ่นดิน  โอ่งมังกรก็สามารถไปไกลทั่วทุกภาคของประเทศบางครั้งไปถึงต่างประเทศในเอเชีย  เป็นการนำมาซึ่งรายได้มหาศาลแก่ประเทศชาติ

 

   
กลับหน้าแรก