หน่วยทหารไทย กำลังเดินข้ามสะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ อ.เมือง จ.ราชบุรี ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
 

       เป็นที่กล่าวขวัญและเล่าสืบต่อกันมานานเกี่ยวกับหัวรถจักรที่จมอยู่ใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลอง ในเขตตัวเมืองราชบุรี ซึ่ง พลโทชัยยุทธ   เทพยสุวรรณ   เจ้ากรมการทหารช่าง (ในขณะนั้น) ได้พยายามที่จะรื้อฟื้นเรื่องราวของหัวรถจักรคันนี้ให้ฟื้นคืนกลับขึ้นมาเป็นหน้าประวัติศาสตร์ของ จว.ราชบุรี   เพื่อให้คนรุ่นปัจจุบันได้รับทราบ และตระหนักถึงความสำคัญของ จว.ราชบุรี ในการมีส่วนร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2

       พิสูจน์ทราบการ จม....

       วันที่ 12 เม.ย. 2548 เวลาประมาณ 08.00 น. ผมและทีมงานปฏิบัติงานใต้น้ำของกรมการทหารช่าง รวม 4 คน   พร้อมด้วยนักดำน้ำเก็บกู้สิ่งของจากบ้านท่าเสาอีก   4 คนได้รับมอบหมายจากเจ้ากรมการทหารช่างให้ลงไปดำน้ำเพื่อพิสูจน์ทราบรูปแบบขอหัวรถจักร ลักษณะ   และสภาพการจม พร้อมกับถ่ายภาพหัวรถจักรคันนี้ ขึ้นมาเพื่อทำการประชาสัมพันธ ์   และนำข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์ขั้นต้นเพื่อวางแผนต่อไป

       ข้อมูลเบื้องต้น : ยังไม่ใครพิสูจน์ทราบได้ว่า หัวรถจักรที่จมอยู่นี้เป็นรุ่นใด จากข้อมูลเดิมจะมีอยู่ 2 รุ่น คือ รถจักรขนาดเล็ก รุ่น P- CLASS ( KITSON/NORTH BRITISH,1917,1919) สร้างในประเทศอังกฤษ หรือ รถจักร ขนาดเล็ก รุ่น C-56 ( JAPAN ) สร้างในประเทญี่ปุ่น

       วิธีที่พวกเราดำเนินการ พวกเราต้องศึกษาจากแบบแปลนของรถจักรทั้งสองรุ่น ซึ่งจะมีลักษณะล้อขับ ล้อนำ และปล่องไฟแตกต่างกัน หลังจากนั้นจึงดำน้ำลงไปพิสูจน์ทราบลักษณะที่คล้ายคลึง ซึ่งหากยืนยันได้ว่ารุ่นใดจมอยู่แล้ว พวกเราก็จะได้ข้อมูลของขนาดรูปร่าง และน้ำหนักที่แท้จริงของตัวรถจักรตามมาด้วย

       การพิสูจน์ทราบยังล้มเหลว การดำน้ำในวันนี้เราแทบไม่ได้อะไรเลย น้ำไม่ลึกเท่าใดนัก ประมาณ 8- 10 ม. กระแสน้ำเอื่อยๆ พื้นท้องน้ำเป็นทราย ทัศนวิสัยของน้ำค่อนข้างต่ำมองเห็นได้ไม่เกิน 10   ซม. แม้พวกเราจะนำไฟฉายใต้น้ำลงไปก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้มากนัก พวกเราเหมือนคนตาบอดแต่ก็พยายามถ่ายรูปด้วยกล้องใต้น้ำขึ้นมาให้มากที่สุด   แล้วจึงค่อยนำมาวิเคราะห์ นอกจากนั้นเรายังไปดำน้ำ พิสูจน์ทราบลูกระเบิดที่ยังคงจมอยู่อีก 2 ลูก ก็เพียงแต่ได้ รูป คลำ แล้วนำลักษณะขึ้นวิเคราะห์เช่นกัน

       เช้าวันที่   13 เม.ย.48 พวกเราลงดำน้ำกันอีกครั้งประมาณ 07.00 น.   ซึ่งคำนวณแล้วว่าน้ำจะค่อนข้างนิ่งที่สุด   จะได้ไม่มีกระแสน้ำ และฝุ่นตะกอนที่จะรบกวนการมองเห็น   และการถ่ายภาพของพวกเรา แต่ผลยังคงเหมือนเดิม...แต่ในครั้งนี้ เราสามารถจำลองลักษณะการจมต่างๆ ว่าจมอยู่ในลักษณะใด ที่ความลึกเท่าใด หัวรถจักรวางตัวอย่างไร....แต่ยังไม่กล้าฟันธงลงไปว่าเป็นหัวรถจักรรุ่นใด

       พวกเรายังคงมีความตั้งใจที่จะลงไปดำน้ำพิสูจน์ทราบให้ได้แน่ชัดว่าเป็นหัวรถจักรรุ่นใด แน่..เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการวางแผนการกู้อย่างถูกต้องและสมบูรณ์...ต่อไป  ( ติดตามตอนต่อไป)

สะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ อ.เมือง จ.ราชบุรี เมื่อครั้งก่อน
 
ตำแหน่งที่หัวรถจักรจมอยู่ใต้สะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์
 
 
 
                
โดย  พ.อ.สุชาต จันทรวงศ์  ประธานชมรมกีฬาทางน้ำ

ศูนย์กีฬากรมการทหารช่าง

 

  
กรมการทหารช่าง          ค่ายภาณุรังษี
ต.โคกหม้อ  อ.เมือง  จ.ราชบุรี  70000
จัดทำ/เผยแพร่โดย ส่วนปฏิบัติการระบบเครือข่ายฯ  ศทท.กช.
webmaster  ::  kittikraimanee@gmail.com   ทบ. 53105