ประวัติเข็มเสนาธิปัตย์ และเข็มเสนาภิวุฒิ เมื่อนายทหารฝึกหัดจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกชุดที่ ๑๒ ( พ.ศ.๒๔๖๖ - ๒๔๖๗ ) ได้ทำการสอบปลายปีเสร็จแล้ว เกิดความจำเป็นต้องส่งนายทหารซึ่งสอบไล่ได้แล้ว กลับไปรับราชการยังกรมกองทั้งหมด เพราะไม่มีตำแหน่งจะบรรจุในหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการ และในชุดต่อไปก็อาจจะต้องกระทำเช่นนี้อีก ฉะนั้น พลตรี พระยาพิชัยสงคราม ซึ่งครองตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศาสตร์อยู่ในขณะนั้น ได้เสนอความเห็นแด่เสนาธิการทหารบกว่า เมื่อจำเป็นต้องส่งกลับเช่นนี้ คิดว่าไม่มีอะไรจะเป็นเครื่องชุ่มใจได้ดีกว่าเครื่องหมายแสดงคุณวุฒิ ว่าเป็นผู้สำเร็จจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกแล้ว
เรื่องราวของเข็มเสนาธิปัตย์แต่เดิมมานั้น มีเอกสารพอเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า เดิมทีเดียว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ( ในขณะยังมิได้เถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ) ได้เสด็จกลับพระนคร ได้ทรงเอาเข็มของโรงเรียนเสนาธิการทหารอังกฤษ มาถวายให้ จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทอดพระเนตร สัญญลักษณ์ของเข็มนั้นเป็นรูป นกเค้า แมว ( บางท่านว่าเป็นรูปไก่ แต่มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นนกเค้าแมวมาแต่นานแล้วไม่เปลี่ยนแปลง ) กับมีคติเตือนใจ เป็นภาษาละตินอยู่ ๒ - ๓ คำ
นกเค้าแมวนี้ ชาวยุโรปถือว่าเป็นนกที่มีความรู้มาก อายุยืน และมีนิสัยเงียบ ไม่ร้อง ซึ่งเป็นลักษณะอันพึงประสงค์ของนายทหารเสนาธิการเป็นอย่างยิ่ง
จึงได้ทรงปรึกษากันว่า โรงเรียนเสนาธิการทหารบกของเราก็มีอยู่ แต่ยังไม่มีเครื่องหมายให้ผู้สำเร็จการศึกษา จากโรงเรียนนี้ ควรจะให้มีไว้ และน่าจะใช้รูปใดจึงจะให้ความหมายได้เหมาะสม จึงได้มอบ ให้พระยาพิชัยสงคราม ( เจ้ากรมยุทธศาสตร์ทหารบก ) กับ พระยาสุรกิจพิศาล ไปช่วยกันคิด และออกแบบ ทีแรกออกแบบให้เป็นจักราวุธอย่างที่ใช้เป็นเครื่องหมายกองทัพบกปัจจุบันนี้ แต่ก็ปรากฏว่าไม่เหมาะเพราะมีความหมายแคบไป ต่อมามีผู้เสนอให้ใช้รูปพระนารายณ์เหยียบอกนนทุกข์ แต่ก็ให้ความหมายยากอีก เพราะไม่ทราบว่าจะเอาผู้ที่ประดับเข็มนี้ไปเทียบเข้ากับอะไร ไปเทียบกับพระนารายณ์ก็ไม่ได้ เพราะเราเทียบพระนารายณ์ เป็นพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว จึงเป็นอันเลิกกันไป
ต่อมาจึงคิดกันขึ้นได้ว่า ยังมี สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์
อยู่อีกพระองค์หนึ่ง ที่ทรงเป็นเอตทัคคะในกระบวนการออกแบบตรา และเครื่องหมาย หาผู้ใดทัดเทียมมิได้ จึงได้ชวน กันไปเฝ้า และกราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบ พระองค์ท่านจึงทรงออกแบบ และสลักเครื่องหมายเสนาธิปัตย์ ด้วยไม้สักเป็นอันแรก สูงประมาณ ๓๐ ซม . ทรงประทานแก่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ทางโรงเรียนจึงถือเป็นแบบ ทำเป็นตราของโรงเรียน และย่อลงเป็น เข็มเสนาธิปัตย์ มอบให้แก่นายทหารฝึกหัดราชการฝ่ายเสนาธิการที่สำเร็จการศึกษาไปจากโรงเรียนแล้วอย่างเต็มภาคภูมิ สัญญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่บนเครื่องหมายนี้พระองค์ผู้ทรงประทานแบบได้ทรงใส่ความหมายไว้ให้เกี่ยวเนื่องผูกพันกันอย่างแนบแน่นและสมบูรณ์ที่สุด แสดงถึงความซึ้งพระทัยในหน้าที่ของฝ่ายเสนาธิการผู้ประดับเครื่องหมายนี้เป็นอย่างยิ่ง
สมัยโบราณ ช้างได้มีบทบาทสำคัญในการป้องกันประเทศไทยมาแล้วอย่างโชกโชน นอกจากจะได้ขับขี่เพื่อบรรทุกสัมภาระ และเข้าบุกเบิกประตูค่ายหรือกำแพงหอรบแล้ว ช้างได้ทำหน้าที่อันสำคัญ คือ เป็นราชพาหนะหลักให้พระมหารกษัตริย์ประทับ เพื่อทรงนำกำลังออกกระทำการยุทธกับข้าศึก พระมหากษัตริย์บางพระองค์ ถึงกับทรงกระทำ ยุทธหัตถีกับแม่ทัพข้าศึกได้ชัยชนะ กระทั่งพระเกียรติประวัติได้ขจรขจายไปยังนานาประเทศ ดังเช่น พ่อขุนรามคำแหงมหาราช และ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นต้น เพราะว่าช้างได้ทำหน้าที่ในการรบ และเป็นราชพาหนะของพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นนายอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาเช่นนี้เอง การที่จะเลือกช้างเชือกใดเชือกหนึ่งขึ้นระวางเป็น พระยาช้าง จะต้องคัดเลือกอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อให้ได้ช้างต้องตามคชลักษณ์อันอุดมมงคล ไม่แต่เท่านั้น ก่อนที่ได้รับตำแหน่ง พระคชาธาร อยู่ใกล้พระมหากษัตริย์ได้ จะต้องได้รับการฝึกปรือจากครู และหมอควาญผู้ชำนาญในการนี้เป็นพิเศษ อีกเป็นเวลานาน และ มิใช่ว่าจะฝึกได้ผลดีทุกเชือกไป บางเชือกฝึกไปเท่าใด ๆ ก็ไม่ยอมรับการฝึก และซ้ำไม่ยอมละทิ้งนิสัยเดิมของตนตั้งแต่อยู่ป่า จำต้องลดชั้นลงไปเป็นพวกช้างเลว ๆ ก็มาก
ส่วนองค์พระมหากษัตริย์ หรือแม่ทัพนั้น ในสมัยโบราณได้มี กรรภิรมย์ เป็นเครื่องหมายตามคติอินเดีย แต่จะมีฐานะชั้นใดนั้น สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ได้ทรงประทานไว้ในเรื่อง พระเสนาธิปัตย์ พระฉัตรชัย พระเกาวพ่าห์ ( ซึ่งรวมเรียกว่า พระกรรภิรมย์ ) ว่า เดิมคงเป็นเครื่องหมายแม่ทัพ คือ ทัพหน้า ( วังหน้า ) คันหนึ่ง ทัพหลวง ( วังหลวง ) คันหนึ่ง ทัพหลัง ( วังหลัง ) คันหนึ่ง ที่เอาขึ้นช้างพระคชาธารก็คือ ฉัตรเครื่องหมายนี้เอง ฉัตรพระคชาธารวังหน้า ๕ ชั้น วังหลวง ๗ ชั้น วังหลังไม่เคยเห็น อาจจะเป็น ๓ ชั้นก็ได้ ในเวลาใดเวลาหนึ่งไม่มี วังหน้า วังหลัง จึงรวมเอาฉัตรมาไว้วังหลวงหมดเลย ทำเป็น ๗ ชั้นเหมือนกันหมด
การที่เข็มเสนาธิปัตย์ปรากฏเป็นสัญญลักษณ์ฉัตร หรือพระเสนาธิปัตย์ ๗ ชั้น ฉายพรรณรังสีประดิษฐานแนบแน่นอยู่บนหลังพระคชาธารผู้ เครื่องครบนั้น จึงมีความหมายถึงหน้าที่ฝ่ายทหารเสนาธิการอย่างดีที่สุดแล้ว เพราะ พระเสนาธิปัตย์ หรือฉัตร ๗ ชั้น หมายถึง องค์พระมหากษัตริย์ หรือแม่ทัพ
ส่วน พระยาช้าง ที่รองรับอยู่ข้างล่างนั้น หมายถึง ตัวนายทหารฝ่ายเสนาธิการ โดยความหมายดังกล่าวมานี้ พระเสนาธิปัตย์กับพระคชาธารที่อยู่รวมกันนั้น ย่อมเป็นสัญญลักษณ์ของแม่ทัพ ( ผู้บังคับบัญชา ) กับ เสนาธิการ ( ฝ่ายเสนาธิการ ) ก็จะต้องปฏิบัติงานร่วมกัน จะแยกกันมิได้
การคัดและออกแบบเข็มเสนาธิปัตย์ กินเวลา ๔ ปี สำเร็จเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐ และเริ่มแจกเมื่อ พ . ศ . ๒๔๗๑ ตามคำสั่งทหารบก ที่ ๔๑ / ๑๕๐๐ ลง ๑๘ พ.ค.๗๐ และที่ ๑๘๘ แก้ประมวลข้อบังคับสำหรับทหารบก เล่ม ๒ ตอนที่ ๕ มาตรา ๒ ข้อ ๑๖ ว่า นายทหารซึ่งสอบไล่ได้ตามหลักสูตรของแผนกโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ตามที่กรรมการของกระทรวงกลาโหมรายงานเป็นหลักฐาน ให้มีเครื่องหมายแสดงความรู้เป็น รูปพระกรรภิรมย์เสนาธิปัตย์เหนือหลังช้าง ทำด้วยโลหะสีทอง ส่วนกว้าง ๓ ซม . ส่วนสูง ๖ ซม . กลัดที่หน้าอกเบื้องขวาใต้กระเป๋าบนเสื้อ ในเวลาแต่งเครื่องแบบราชการ
การพิจารณาถึงผู้ที่ควรจะได้รับเข็มเสนาธิปัตย์ ซึ่งเสนาธิการทหารบกได้ถือรายนามผู้ที่สอบไล่ได้ โดยมีกรรมการกระทรวงกลาโหมรายงานไว้เป็นหลักฐานนับตั้งแต่ชุด พ.ศ.๒๔๖๒ - ๒๔๖๓ เป็นต้นไป ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด ๖๙ นาย ในการแจกเข็มเสนาธิปัตย์ ได้อัญเชิญ จอมพลสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ผู้ให้กำเนิดแก่เข็มเสนาธิปัตย์ ทรงมาแจกในวันเริ่มเปิดเสนาธิการสโมสร ในวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ . ศ . ๒๔๗๑
เข็มเสนาธิปัตย์ จึงเป็นเข็มที่แสดงคุณวุฒิให้แก่ผู้ที่ได้รับการสอบคัดเลือกเข้ามาศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก และเป็นผู้ที่สอบไล่ได้ตามหลักสูตรตลอดมา จนกระทั่งเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๔๙๕ กองทัพบกได้ออกคำสั่ง ทบ . ที่ ๔๕ / ๖๐๔๙ เรื่อง แก้ข้อบังคับ ทบ . ว่าด้วย รร.สธ.ทบ. ที่ ๒ / ๓๐๑๕ เฉพาะที่แก้เกี่ยวกับเข็มเสนาธิปัตย์ ดังนี้ .-
ข้อ ๓๙ เครื่องหมายสำเร็จการศึกษาโรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลักสูตรเดิมตั้งแต่ชุดที่ ๑ เป็นต้นมา ให้ทำเป็นรูปกรรภิรมย์เสนาธิปัตย์เหนือหลังช้าง ส่วนกว้าง ๓ ซม. ส่วนสูง ๖ ซม. ด้วยโลหะสีทอง และให้เป็นเครื่องหมายผ่านการศึกษาสำหรับผู้ฝากศึกษาจากกองทัพเรือ และกองทัพอากาศด้วย .
เมื่อต้นปี พ . ศ . ๒๔๙๕ คณะนายทหารที่ได้ผ่านโรงเรียนผสมเหล่า ชุดที่ ๒ ( พ.ศ. ๒๔๙๔ ) ได้ทำหนังสือขอใช้เข็มแบบเดียวกัน เพื่อประดับแสดง่า ได้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนผสมเหล่าอย่างโรงเรียนเสนาธิการทหารบก และเนื่องจากโรงเรียนผสมเหล่าได้มีฐานะต่าง ๆ ใกล้เคียงกับโรงเรียนเสนาธิการมาก อาจารย์ก็ใช้อาจารย์ชุดเดียวกัน หลักสูตรการศึกษาก็ใกล้เคียงกัน ฉะนั้น ทางราชการจึงได้พิจารณาอนุมัติให้ใช้เข็มเสนาธิปัตย์ เช่น โรงเรียนเสนาธิการทหารบก แต่ให้เปลี่ยนเป็นโลหะสีเงิน
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๓ ได้มีการเพิ่มเติมหลักสูตรของโรงเรียนเสนาธิการ โดยแยกออกเป็นหลักสูตรหลักประจำ และหลักสูตรเร่งรัด กองทัพบกจึงได้ออกระเบียบกองทัพบก ว่าด้วย โรงเรียนเสนาธิการทหารบก พ.ศ.๒๕๐๓ ขึ้นใหม่ โดยกำหนดไว้ในตอนที่ ๙ ว่าด้วย เครื่องหมายสำเร็จการศึกษา ดังนี้ .-
ข้อ ๔๒ ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลักสูตรหลักประจำ จะได้รับเข็มเสนาธิปัตย์รูปพระกรรภิรมย์เสนาธิปัตย์เหนือหลังช้าง ทำด้วยโลหะสีทอง ส่วนกว้าง ๓ เซนติเมตร สูง ๖ เซนติเมตร เป็นเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลักสูตรเร่งรัด จะได้รับเข็มเสนาธิปัตย์เช่นเดียวกัน แต่ทำด้วยโลหะสีเงิน ซึ่งต่อมาผู้บังคับบัญชาได้เปลี่ยนให้เป็นโลหะสีทองเช่นเดียวกันกับผู้สำเร็จหลักสูตรหลักประจำ

ในปัจจุบัน สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลักสูตรนายทหารบกอาวุโส จะได้รับ เข็มเสนาภิวุฒิ เป็นรูปพระกรรภิรมย์เหนือหลังช้าง ซึ่งมีลักษระเช่นเดียวกันกับ เข็มเสนาธิปัตย ์ แต่แตกต่างกัน คือ รูปพระกรรภิรมย์เสนาธิปัตย์เหนือหลังช้าง ทำด้วยโลหะสีเงิน อยู่บนฐานสีทอง
เข็มเสนาภิวุฒิ เป็นเครื่องหมายแสดงวิทยฐานะ สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตร นายทหารบกอาวุโส โดยให้ประดับที่กระเป๋าเสื้อเบื้องขวา มีลักษณะเช่นเดียวกับ เข็มเสนาธิปัตย์ แต่มีส่วนแตกต่างกันที่สีโลหะไม่เหมือนกัน กล่าวคือ เข็มเสนาธิปัตย์ รูปพระกรรภิรมย์เสนาธิปัตย์เหนือหลังช้าง ทำด้วย โลหะสีทอง ส่วน เข็มเสนาภิวุฒิ รูปพรุกรรภิรมย์เสนาธิปัตย์เหนือหลังช้าง ทำด้วย โลหะสีเงิน อยู่บนฐานโลหะสีทอง
คำว่า เสนาภิวุฒิ มาจากคำ ๓ คำ นำมาสนธิ และสมาสกัน คือ .-
เสนา มีความหมายว่า ไพร่พล ( ผู้รับใช้ใกล้ชิดผู้บังคับบัญชา )
อภิ มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่ , วิเศษ , เหนือ
วุฒ ิ มีความหมายว่า ความรู้ , ภูมิรู้ , ความเจริญ , ความงดงาม
เมื่อนำคำทั้งสามคำมา สนธิ และ สมาส กัน เสนา + อภิ วุฒิ เป็น เสนาภิวุฒิ มีความหมายว่า ความรู้อันเจริญยิ่งของไพร่พล
ที่มาข้อมูลโดย :: โรงเรียนเสนาธิการทหารบก
.................................................................
|