มุมมองทางประวัติศาสตร์    โดย  ::  พ.อ.เกรียงไกร    แข็งแรง

4. สีและเครื่องหมายเหล่า : จากหมายบ่าด้วยสีดำจนถึงพลั่ว สมอ และขวาน

ทหารล้อมวังต้นกำเนิดกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ในปัจจุบัน
ที่มา
:http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=klongrongmoo&month= 032009 &date= 29 &group= 4 &gblog= 25

               การปฏิรูปกิจการของทหารนับแต่ ร.5 ทรงเริ่มครองราชย์ในปี พ.ศ.2411 เป็นต้นมานั้น เบื้องต้นปรากฏเหล่าทหารในระยะแรกๆ คือ ทหารราบ (ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ , ทหารรักษาพระองค์) ทหารม้า , ทหารปืนใหญ่และทหารช่าง ยังไม่ปรากฏการแบ่งแยกด้วยเครื่องหมายเหล่าอย่างชัดเจน ดูเหมือนว่าการแต่งกายที่พอจะแยกแยะเหล่าได้คือ เครื่องแบบทหารรักษาพระองค์ พระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวทหารบก ร.ศ.127 (พ.ศ.2451) * ออกในสมัย ร.5 มาตรา 4 ข้อ 2 ระบุการแต่งกายซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการแบ่งเหล่าว่า
                
“ .....ข้อ 2 เสื้อผ้าสีเทารูปกระสอบคอพับ
             
   •  พลรบ มีบ่าเป็นแผ่นผ้า ....หุ้มผ้าสีตามสังกัด สำหรับติดตามตรงบ่า คือแต่ต้นคอไปไหล่
                •  ผู้ช่วยพลรบ มีบ่าเป็นแผ่นผ้า....หุ้มผ้าสีตามสังกัดสำหรับติดตามขวางบ่าคือแต่หน้าไหล่ไปหลังไหล่ ”
                ในหมวดที่ 3 ว่าด้วยเครื่องหมายทหาร มาตรา 10 ระบุว่า “ ........... ทหารต่างเหล่าต่างแพนกต้องมีสีเป็นเครื่องหมายให้เห็นแปลกกันที่บ่ายศ เสื้อนายทหารชั้นสัญญาบัตรทั้งปวงที่เป็นรูปทูนิกสีเทาให้หมายสีที่คอเสื้อ ที่ขลิบลวดตรงริมหน้าอก ขั้นข้อมือ ปากกระเป๋า แถบกางเกง ทหารเหล่าใดแพนกใดควรจะหมายสีใด ก็ให้ผู้บังคับบัญชากรมยุทธนาธิการกำหนดให้ใช้สีเครื่องหมายนั้นตามที่เห็นสมควร... ”

ทหารช่างเยอรมันในการปฏิบัติการรบ ในแนวรบด้านตะวันออก (รัสเซีย) ห้วงปี ค.ศ. 1943 - 1944 เสื้อตัดเย็บด้วยผ้าทูนิคสีเทา
ตามแบบปี 1935 ซึ่งใช้กันอย่างกว้างขวาง คอปกเสื้อสีดำ อินธนูสีดำ ขลิบขอบอินธนูด้วยสีดำ (สีดำ แสดงถึงเหล่าทหารช่าง) ดูเหมือนว่าในยุคแรกๆเครื่องแต่งกายทหารไทยได้รับอิทธิพลมาจากเยอรมัน ที่มา : การแต่งกายของทหารเยอรมันในสงครามโลกครั้งที 2
http://www.geocities.com/saniroj โดย พันโทศนิโรจน์ ธรรมยศ

                ต่อมาได้มีคำสั่งกรมยุทธนาธิการ ที่ 3/6 ลง 1 เม.ย. ร.ศ.127 (พ.ศ.2451) เรื่องหมายสีบ่าทหาร โดยให้ใช้สีเครื่องหมายดังต่อไปนี้
                •  นายทหารชั้นนายพลทั้งปวง ใช้สีอย่างพลรบและหมายสีบานเย็น
                •  เหล่าทหารทั้งปวง ให้ใช้บ่าอย่างพลรบและหมายสีดังนี้
                เหล่าทหารม้า หมายสี น้ำเงิน
                เหล่าทหารปืนใหญ่ หมายสี เหลือง
                เหล่าทหารช่าง หมายสี ดำ
                เหล่าทหารพราน หมายสี เขียว
                เหล่าทหารพาหนะ หมายสี เลือดหมู
                เหล่าทหารราบและนักเรียนนายร้อย หมายสี แดง
                ดูเหมือนว่าประเพณีหมายสีบ่านี้จะกลายเป็นแนวทางในการยึดถือเอาเป็นสีประจำเหล่าไปด้วย แม้นว่าในเวลาต่อมาจะมีการกำหนดเครื่องหมายเหล่าแล้วก็ตาม ดังเช่น พรบ.ธง พ.ศ.2522 หมวด 3ธงทหาร มาตรา 32 ธงแสดงหน่วยทหารบก (4) ธงแสดงหน่วยกองพันระบุว่า
                “ ผืนธงส่วนล่างของธงแสดงหน่วยทหารตาม (2)(3) และ (4) เป็นสีตามสีของหน่วยทหาร.... ”
                ซึ่งในที่นี้หน่วยทหารเหล่าทหารช่างมีสีดำดังรูปภาพ ทั้งนี้ประเพณีการยึดถือเอาสีเป็นสัญลักษณ์ของเหล่ายังรวมไปถึงผ้าพันคอประกอบเครื่องแบบสนามในยามประกอบพิธี เช่น งานสวนสนามในพิธีการสำคัญเป็นต้น แม้นไม่มีระเบียบระบุไว้แต่เราจะสังเกตพบว่าเหล่าทหารปืนใหญ่หรือทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ทุกหน่วยล้วนใช้ผ้าพันคอสีเหลือง เหล่าทหารสื่อสารใช้ผ้าพันคอสีม่วงเม็ดมะปราง เหล่าทหารม้าใช้ผ้าพันคอสีฟ้าหม่น เป็นต้น ความแตกต่างของแต่ละหน่วยเป็นเพียงตราสัญลักษณ์ประจำหน่วยบนผืนผ้าเท่านั้น

ธงทหารช่าง

ธงประจำหน่วยทหารระดับกองพัน
ผืนธงส่วนล่างของธงจะแสดงหน่วยทหาร เป็นสีตามสีของหน่วยทหาร เช่นในภาพเป็นธงประจำหน่วยกองพันทหารช่าง

                ย้อนกลับมาพิจาณาเครื่องหมายเหล่าทหารอีกครั้งหนึ่ง พรก.เครื่องแต่งตัวแบบทหารบก พ.ศ.2462 (ร.6) มีการปรับปรุงรูปแบบบางประการซึ่งรวมถึงการหมายสีบ่าที่เปลี่ยนแปลงบางเหล่า แต่สำหรับทหารช่างไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยที่ทหารจำพวกครูก็ให้หมายสีดำด้วย
                พรก.เครื่องแบบทหารบก พ.ศ.2475 ออกใช้เมื่อ 22 ส.ค.2475 (ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง) ในหมวด 4 เครื่องหมายเหล่าและจำพวก มาตรา 13 เครื่องหมายแสดงเหล่าและจำพวกทหารมีดังต่อไปนี้
                “ 1 สำหรับทหารพลรบให้มีเครื่องหมายแสดงเหล่า ทำด้วยโลหะสีทองติดที่คอเสื้อด้านขวา แต่ทหารนอกประจำการติดที่ใต้ปกกะเป๋าเสื้อบนด้านข้างซ้าย คือ

ฯลฯ

ทหารช่าง ใช้สมอ พลั่ว และขวานไขว้กันกลางบัวกนก

ฯลฯ

ช่างบัวกนก

พรก.เครื่องแบบทหารบก 2475 กำหนดเครื่องหมายแสดงเหล่า สำหรับทหารช่างใช้สมอ พลั่วและขวานไขว้กันกลางบัวกนก ซึ่งผู้เขียนยังไม่สามารถหาภาพได้แต่ก็อาจเทียบเคียงกับภาพกลางซึ่งเป็นตราหน้าหน้าหมวกรูปอุณาโลมและจักรบนบัวกนก หรือปทุมกนก อนึ่งรูปอุณาโลมในปทุมกนกเป็นพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 1 พระผู้ทรงเป็นปฐมบรมราชจักรีวงศ์

ปกติคปลดโยงไม่ขัดกระบี่86

เครื่องแบบทหารบก ตามกดกะซวงกลาโหม พ.ศ. 2486 ออกตาม พรบ.เครื่องแบบทหาร พ.ศ. 2477 ว่าด้วยเครื่องแบบทหานบก (ฉบับที่ 26 ) ในภาพเป็นเครื่องปกติแบบ ค.
                

                ต่อมามีการออกกฎกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเครื่องแบบทหารบก (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2479 มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในเรื่องเครื่องหมายเหล่า ดังนี้
                “ หมวด 4 เครื่องหมายเหล่า , จำพวก และสังกัด ข้อ 15 ทหารพลรบให้มีเครื่องหมายทำด้วยโลหะสีทองติดที่คอเสื้อทั้งสองข้าง แต่เสื้อเปิดอกให้ติดที่คอพับของเสื้อตอนบน เหนือแนวเครื่องราช อิสริยาภรณ์ คือ

ฯลฯ

ทหารช่าง ใช้รูปสมอ พลั่ว และขวานไขว้กัน

ฯลฯ ”

                ดังนั้น เราจึงพบว่าเครื่องหมายเหล่าทหารช่างที่มีสัญลักษณ์รูปสมอ พลั่ว และขวานไขว้ กันที่ใช้มาจนถึงทุกวันนี้นั้น เป็นผลมาจากกฎกระทรวงซึ่งประกาศใช้ รกจ. เมื่อ 6 ธ.ค.2479 โดยในระยะแรกๆ จะติดที่ปกคอเสื้อทั้งสองข้างจนถึงปี พ.ศ.2493 จึงเปลี่ยนเป็นติดด้านขวา ส่วนสังกัดนั้นติด ด้านซ้ายของปกเสื้อ กฎกระทรวง พ.ศ.2495 ระบุเครื่องหมายสังกัดซึ่งประดับไว้ที่คอเสื้อด้านซ้ายในหมวด 3 ข้อ 32 ว่า                 
                “ ........... ข้อ 32 ทหารประจำการที่สังกัดกองบัญชาการกองทัพบก และหน่วยราชการส่วนกลาง และส่วนการศึกษาของกองทัพบก (เว้นแต่นักเรียนทหาร) ที่ใช้เครื่องหมายสังกัดดังนี้

ฯลฯ

กรมการทหารช่าง ใช้อักษร กช.

ฯลฯ ”

                อนึ่ง ตราสัญลักษณ์ของกรมการทหารช่าง ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบันนั้น ถือกำเนิดตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดภาพเครื่องหมายราชการ ตาม พรบ. เครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2482 (ฉบับที่ 58 )ลง 16 เม.ย. 2513 ดังภาพที่ปรากฏ

เครื่องหมายราชการของกรมการทหารช่างเริ่มใช้ พ.ศ. 2513

                คาถาภาษิตของเหล่าทหารช่าง “ วายามะ ” : ที่มา และความหมาย          
                คาถาภาษิต ( motto ) เป็นประเพณีนิยมที่มีมาแต่โบราณ เป็นคำปลุกเร้าขวัญและกำลังใจให้บุคคล องค์กร โดยเฉพาะหน่วยทหารมีจิตใจที่ยึดมั่นฮึกเหิม ทั้งอาจกล่าวได้ว่ายึดถือเอาแบบมาจากตะวันตก ดังจะได้กล่าวต่อไป เป็นเสมือนคติพจน์ อุดมการณ์ หรือกระทั่ง คำปลุกเร้าให้เกิดความฮึกเหิม เตือนสติ ประเพณีของไทยนิยมเขียนเป็นภาษาบาลีแล้วกำกับด้วยความหมาย ตัวอย่างเช่น

กยิราเจ กยิราเถนํ ทำสิ่งใดทำให้จริง

(กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์)

วิเชตฺวา พลตา ภูปํ รฏฺเฐ สาเธตุ วุฑฺฒิโย
ขอกองทหารแห่งพระราชา จงยังชัยชนะแก่ข้าศึกแล้วนำความเจริญสู่แผ่นดิน

(กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์)

สงฺคาเม เมมตํ เสยฺโย ยญฺเจชีเว ปราชิโต
ตายเสียในสงคราม ดีกว่ามีชีวิตอยู่อย่างผู้แพ้

(กองพลที่ 1 รักษาพระองค์)

อากาเส ยนฺติ อิทธิยา ผู้มีฤทธิ์ย่อมไปได้ในอากาศ

(เหล่าทหารอากาศ)

อสาธุ สาธุนา ชิเน พึงเอาชนะความชั่วด้วยความดี

(กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน)

                ดังนั้นแล้ว “ วายามะ ” ซึ่งเป็นคาถาภาษิตของเหล่าทหารช่าง นั้นมีที่มาและความหมายเช่นใด เรื่องนี้ผู้เขียนได้พบว่าข้อความ “ วายามะ ” เริ่มปรากฏครั้งแรกในสัญลักษณ์ของโรงเรียนทหารช่างแต่ยังไม่สามารถสอบทานถึงความเป็นมาได้อย่างชัดเจน วายามะ นั้น มีความหมายว่า ความเพียรพยายาม ซึ่งสอดคล้องกับคุณลักษณะของเหล่าทหารช่างเป็นอย่างยิ่ง และโดยเฉพาะเมื่อเราได้ทราบว่าเป็นคาถาภาษิตในเรื่องพระมหาชนก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเรียบเรียงจากทศชาติชาดก ด้วยการกล่าวถึงการบำเพ็ญเพียรบารมีในชาติที่ 2 ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า (พระเจ้าสิบชาติ : ผู้เขียน)            

1146887400

พระมหาชนกผู้บำเพ็ญบารมี “ วายามะ (ความเพียรพยายาม) ” ในชาติที่ 2 ของทศชาติ ซึ่งเหล่าทหารช่างถือเอาเป็นคาถาภาษิตประจำเหล่า ในภาพจากพระมหาชนก... “ ขอจงมีความเพียรที่บริสุทธิ์ ปัญญาที่เฉียบแหลม กำลังกายที่สมบูรณ์ ”

                เมื่อผู้เขียนค้นคว้าคาถาภาษิตของเหล่าทหารช่าง กองทัพบกสหรัฐ พบนัยสำคัญของความคล้ายคลึงกับทหารช่างกองทัพบกไทย บางประการคือ สัญลักษณ์โรงเรียนทหารช่าง เป็นรูปตะเกียงคล้ายกับโรงเรียนทหารช่าง ทบ.ไทย ส่วนคาถาภาษิตนั้นระบุว่า คือ “ ESSAYONS ” ซึ่งเมื่อค้นคว้าต่อไปอีกจะพบว่ามีรากศัพท์มาจากภาษาฝรั่งเศส อนึ่ง รากศัพท์ของทหารช่าง สรอ.นั้นได้รับอิทธิพลจากภาษาฝรั่งเศสมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 กระทั่งคำว่า “ ENGINEER ” ซึ่งมีความหมายว่าทหารช่าง ก็มีรากฐานมาจากคำศัพท์ในภาษาฝรั่งเศสคำว่า “ Ginnie ” ซึ่งหมายถึง ผู้รับผิดชอบการปฏิบัติงานด้านเครื่องจักรกลสงคราม เช่น หอคอยเคลื่อนที่ ลาดสำหรับพาดกับกำแพงข้าศึก เป็นต้น ส่วนคำว่า “ ESSAYONS ” นั้นมีความหมายว่า “ Let us try ” หมายถึง “ ขอผองเราจงมีความเพียรพยายาม ” ซึ่งมีความหมายเดียวกับ “ วายามะ ” ของทหารช่าง ทบ.ไทย ส่วนใครจะลอกเลียนใคร ผู้อ่านลองไปคิดดู

Image1048        ncotra2

เครื่องหมายโรงเรียนทหารช่าง ทบ.สรอ. และ ทบ.ไทย ที่มีความคล้ายคลึงกัน กระทั่งคาถาภาษิตที่กำกับไว้ด้านล่าง

 

 

.......................................................................

 

 

ที่มาเอกสารอ้างอิง ::   * นิตยสารทหารช่าง ปีที่ 43   ฉบับที่ 1    หน้าที่ 30 - 36
                                    * นิตยสารทหารช่าง ปีที่ 43   ฉบับที่ 2    หน้าที่ 12 - 16
                                    * นิตยสารทหารช่าง ปีที่ 43   ฉบับที่ 3    หน้าที่ 26 - 29

 
 
  
กรมการทหารช่าง          ค่ายภาณุรังษี
ต.โคกหม้อ  อ.เมือง  จ.ราชบุรี  70000
จัดทำ/เผยแพร่โดย ส่วนปฏิบัติการระบบเครือข่ายฯ  ศทท.กช.
webmaster  ::  kittikraimanee@gmail.com   ทบ. 53150