ตอนที่ ๑ อาคารบ้านดิน เพื่อจัดแสดงนิทรรศการแนวทางพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่
และ แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เป็นแนวทางในการพัฒนาด้านต่างๆ เมื่อ ร้อย.ช. กกล.ฉก.๙๘๐ ไทย/ดาร์ฟูร์ ได้มาปฏิบัติงาน ณ ประเทศซูดาน ในการปฏิบัติการรักษาสันติภาพร่วมกับองค์การสหประชาชาติ ภารกิจ UNAMID ได้นำแนวทางของพระองค์ท่านเป็นหลักในการปฏิบัติงาน และ ด้วยปี ๒๕๕๔ เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุ ครบ ๗ รอบ ๘๔ พรรษา กกล.ฉก.๙๘๐ ไทย/ดาร์ฟูร์ ได้จัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ประกอบด้วย การลงนามถวายพระพรชัยมงคล การจุดเทียนชัยมงคล การเปิดสวนเกษตรทฤษฎีใหม่ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การใช้จุลินทรีย์อีเอ็มบำบัดน้ำเสีย และ การแปลอักษร ๘๔ เป็นต้น
ภารกิจของ กกล.ฉก.๙๘๐ ไทย/ดาร์ฟูร์ คือ การสร้างสภาวะแวดล้อมที่เกื้อกูล อันนำไปสู่การสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในประเทศซูดาน ซึ่งการปฏิบัติหลัก คือ การลาดตระเวนแสดงกำลัง การรักษาความปลอดภัยเจ้าหน้าที่ และ ทรัพย์สินของสหประชาชาติ แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งหนทางที่จะได้ความร่วมมือ คือ การพัฒนา และ การให้ความช่วยเหลือประชาชน ทำให้ประชาชนเห็นความจริงใจ เกิดความเชื่6อมั่น ใน กกล.ฉก.๙๘๐ ไทย/ดาร์ฟูร์ และ ให้ความร่วมมือ ซึ่ง ร้อย.ช. ได้มีบทบาทในการปฏิบัติงานช่างสนับสนุนการพัฒนา และ การให้ความช่วยเหลือประชาชนในหลายรูปแบบ เช่น การขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล การซ่อมบำรุงเส้นทาง และ การก่อสร้างปรับปรุงสิ่งก่อสร้างต่างๆ เป็นต้น
เมื่อได้มีโอกาสสัมผัสประชาชน และ พื้นที่มากขึ้น ร้อย.ช. ได้เรียนรู้ว่า ในพื้นที่มีความขาดแคลนวัสดุก่อสร้างค่อนข้างมาก และ มีราคาแพง เช่น ปูนซิเมนต์มีราคา ถุงละ ๕๐๐ - ๖๐๐ บาท ซึ่งแพงกว่าประเทศไทยมาก นอกจากนี้ รัฐบาลซูดาน ห้ามการตัดไม้ เผาอิฐ และ เผาถ่าน ประชาชนในพื้นที่สร้างบ้านจากดิน ไม้ไผ่ และ หญ้า แต่ไม่มีความรู้ในการสร้างมากนัก มักจะไม่ทนฝน หรือ ไม่คงทนแข็งแรงมากนัก และ ส่วนใหญ่สร้างเป็นทรงกลม ทำให้มีพื้นที่ใช้สอยไม่มาก
ช.พัน.๔ ซึ่งได้จัดกำลังพลส่วนหนึ่งร่วมปฏิบัติงานใน ร้อย.ช. มีประสบการณ์การก่อสร้างบ้านจากอิฐดิน ได้นำประสบการณ์ และ ความรู้มาประยุกต์ใช้ พร้อมความรู้ด้านงานช่าง เช่น งานก่อฉาบ งานโครงสร้าง งานดิน มาผสมผสานก่อสร้างอาคารบ้านดิน จำนวน ๒ หลัง ในลักษณะทดลองทำ
บ้านดินหลังแรกได้ก่อสร้างในช่วงแรก มีขนาดพื้นที่ใช้สอย ประมาณ ๒๐ ตารางเมตร มีลักษณะเป็นบ้านที่พักอาศัย ใช้วัสดุดิน ไม้ หญ้า และ วัสดุเหลือใช้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทฤษฎีใหม่ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
บ้านดินหลังที่สองได้ก่อสร้างในช่วง พ.ย. ๕๔ - ม.ค. ๕๕ มีขนาดพื้นที่ใช้สอย ประมาณ ๑๕๐ ตารางเมตร มีลักษณะเป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการ และ ศูนย์ฝึกอบรม ใช้วัสดุดิน ไม้ หญ้า และ เหล็ก เป็นอาคารที่ใช้จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ ครบ ๗ รอบ ๘๔ พรรษา
ร้อย.ช. ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างหลัก โดยมี ฝกร. เป็นฝ่ายอำนวยกำกับดูแล อาคารหลังนี้ มี ร.อ.สาธิต หารจันทร์ จาก ช.พัน.๔ เป็นสถาปนิกออกแบบ มี พ.ท.รุ่ง ประชาธนานุกิจ จาก กช. เป็นวิศวกรควบคุม และ บริหารการก่อสร้าง
ลักษณะอาคาร เป็นอาคารผนังทำด้วยดิน หลังคาทำด้วยโครงไม้ไผ่ใช้หญ้ามุง มีประตู และ ช่องลม ซึ่งวงกบทำจากไม้ การตกแต่งใช้วัสดุธรรมชาติทั้งหมด อาคารประกอบด้วย ๓ ส่วน ดังนี้
๑. ส่วนบริเวณด้านหน้า เป็นทางเข้า และ บ่อน้ำ จำนวน ๒ บ่อ ขนาดพื้นที่รวม กว้างด้านหน้า ๑๐.๕ เมตร กว้างด้านข้าง ๗ เมตร
๒. ส่วนบริเวณด้านกลาง เป็นส่วนจัดแสดงหลัก มีผนัง จำนวน ๔ ด้าน ประตู จำนวน ๒ ประตู ช่องลม และ หลังคา ขนาดพื้นที่รวม กว้างด้านหน้า ๑๐.๕ เมตร กว้างด้านข้าง ๑๓.๐ เมตร สูงประมาณ ๔.๐ เมตร
๓. ส่วนบริเวณด้านหลัง เป็นส่วนจัดแสดงรอง มีผนัง จำนวน ๑ ด้าน ไม่มีประตู ไม่มีช่องลม และ ไม่มีหลังคา ขนาดพื้นที่รวม กว้างด้านหน้า ๑๐.๕ เมตร กว้างด้านข้าง ๙ เมตร สูงประมาณ ๔.๐ เมตร
วิธีการก่อสร้าง
๑. การก่อสร้างผนัง
๑.๑ จัดทำแนวผนังโดยตั้งเสาเหล็กสูง ๓.๕ เมตร (ฝังในดิน ๒.๕ เมตร รวมยาว ๖.๐ เมตร) ใช้เชือกเอ็นขึงเป็นแนว พร้อมกำหนดจุดของอิฐดินแต่ละก้อน (การวางอิฐดิน จะวางแบน แนวยาวจะขวาง หรือ ตั้งฉาก กับแนวผนัง เพื่อป้องกันผนังล้ม
๑.๒ ทำตัวเชื่อมประสานอิฐดิน โดยใช้ดินผสมกับทราย และ เศษหญ้า คลุกเคล้ากับน้ำในบ่อเตรียม
๑.๓ ก่ออิฐดินตามตำแหน่ง และ แนวเชือกเอ็น โดยใช้ตัวเชื่อมประสานอิฐดิน
๑.๔ เมื่อก่อผนังเรียบร้อยแล้ว ทำการฉาบด้วยตัวเชื่อมประสานอิฐดินผสมกับวัสดุอื่นๆ เพื่อให้ผิวเรียบ
๑.๕ เสาเหล็กที่ทำไว้จะผนวกเข้ากับผนัง เพื่อเพิ่มความแข็งแรง
๒. การก่อสร้างหลังคา
๒.๑ ทำโครงไม้ไผ่ โดยทำเป็นโครงถักผูกด้วยลวดผูกเหล็ก มีเสากลางรับน้ำหนัก
๒.๒ มุงหลังคาด้วยหญ้า
๒.๓ ตีทับหญ้าด้วยไม้รวก เพื่อป้องกันลม
๓. พื้น
๓.๑ บดอัดดินด้วยน้ำให้เรียบก่อนการก่อผนัง
๓.๒ เมื่อก่อผนังเรียบร้อยแล้ว ใช้ทรายปูรองพื้น ความหนาประมาณ ๑๐ เซนติเมตร
๓.๓ ใช้หินแผ่น ซึ่งหาได้ง่ายตามพื้นที่ปูบนทราย และ ปรับระดับให้เสมอกัน
๓.๔ โรยกรวด แทรกรอยต่อระหว่างแผ่นหิน
๔. บ่อน้ำ
๔.๑ ขุดบ่อน้ำ หรือ ก่อบ่อน้ำด้วยอิฐดิน ตามขนาดที่ต้องการ
๔.๒ ปูบ่อด้วยผ้าใบกันน้ำซึม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก UNHCR
๔.๓ ก่อขอบบ่อด้วยอิฐดิน และ ฉาบแต่งให้เรียบร้อย
ใช้อิฐดินในการก่อสร้าง รวมประมาณ ๘ , ๐๐๐ ก้อน (อิฐดินแต่ละก้อน มีขนาด ๐.๒ x ๐.๔ x ๐.๑ เมตร) ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกำลังพลส่วนอื่นๆ ของ กกล.ฉก.๙๘๐ ไทย/ดาร์ฟูร์ ผลัดที่ ๒ ในการจัดทำอิฐดิน ซึ่งใช้วัสดุดินผสม ทราย และ เศษหญ้า คลุกเคล้าในบ่อเตรียมดิน แล้วนำมาอัดลงในแบบเหล็ก เมื่ออัดได้รูปแล้ว นำแบบเหล็กออก ปล่อยให้แห้ง
เคล็ดลับการเลือกดิน ดินที่ใช้ต้องเป็นดินเหนียว ซึ่งในประเทศซูดาน อยู่ในเขตทะเลทราย อาจจะหาดินเหนียวยาก แต่จริงแล้วในประเทศซูดาน ดินส่วนใหญ่เป็นดินเหนียว แต่มีคุณสมบัติ เมื่อแห้งจะแข็งมาก รับน้ำหนักได้มาก แต่เมื่อโดนน้ำจะอ่อน รับน้ำหนักได้น้อย เนื่องจากลมแรง ได้พัดให้ดินเม็ดละเอียดขึ้นมาอยู่ข้างบนผิวดิน เม็ดหยาบอยู่ข้างใต้ผิวดิน ทำให้ดินมีสัดส่วนคละที่ไม่เหมาะ หรือ เม็ดดินขัดตัวเรียงตัวไม่ดี เมื่อโดนน้ำทำให้ลื่นไหล ร้อย.ช. ได้เลือกใช้ดินที่ขุดจากดินที่อยู่ข้างล่างผิวดิน ซึ่งมีสัดส่วนคละที่เหมาะ จากการทดลองพบว่าดินเหนียวใต้ลำธารตามธรรมชาติจะมีคุณสมบัติที่ดีมาก
การฉาบก่อ เหมือนกับ งานคอนกรีต กล่าวคือ เมื่อก่อผนังเรียบร้อยแล้ว ต้องทำแนวการฉาบด้วยใช้ปูนซิเมนต์ผสมทรายเช่นเดียวกับงานคอนกรีต ในการฉาบใช้ทรายหยาบ ทรายละเอียด น้ำ และ ดินเหนียว ผสมคลุกเคล้ากัน ซึ่งดินเหนียวได้ร่อนเอาส่วนหยาบออกแล้ว ดินเหนียวนี้มีหน้าที่เหมือนปูนซิเมนต์ คือ ประสานเม็ดทรายเข้าด้วยกัน ให้คงรูปอยู่ได้ ทรายหยาบใช้สำหรับการฉาบที่หนาเพื่อปรับระดับ ส่วนทรายละเอียดใช้สำหรับการฉาบที่บางเพื่อแต่งผิวให้เรียบ
ข้อดีของดิน คือ ราคาถูก และ ง่ายต่อการปั้น ฉาบ พอก เสริม ตัดออก ได้ตามต้องการ เช่น ในการฉาบ หากการฉาบครั้งแรกไม่เรียบร้อย มีรอยแตกร้าว ก็สามารถนำส่วนผสมมาฉาบทับบางๆ ปิดรอยแตกร้าวได้เลย ไม่จำเป็นต้องทุบ ฉาบใหม่ ซึ่งถ้าเป็นคอนกรีต ต้องทุบ ฉาบใหม่ ทำให้ง่ายต่อการทำงานมาก แต่ข้อเสียของดิน คือ ไม่สามารถรับแรงดึง และ แรงเฉือนได้ และ มีน้ำหนักมาก ต้องเสริมไม้ หรือ เหล็กค่อนข้างมาก ในช่วงประตู หน้าต่าง และ ช่องต่างๆ
ข้อควรระวังในการทำอิฐดิน และ การฉาบก่อ คือ ส่วนผสมต้องไม่เหลวเกินไป หรือ มีน้ำผสมมากเกินไป เพราะเมื่อส่วนผสมแข็งตัวน้ำระเหยออก จะทำให้เกิดรอยร้าว เนื่องจากส่วนผสมหดตัว และ สภาพอากาศที่แห้ง จะทำให้น้ำระเหยได้เร็วมาก เวลาผสมจึงต้องเติมน้ำในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มาก หรือ น้อยเกินไป
ในพื้นที่ประเทศซูดาน มีปลวกค่อนข้างมาก ในการก่อสร้างอาคารบ้านดิน จะมีส่วนที่เป็นอาหารของปลวกหลายส่วน เช่น ไม้รวก หญ้า ซึ่งรวมถึงหญ้าที่ผสมอยู่ในอิฐดิน ซึ่งปลวกจะซอนไซกัดกิน ทำให้เกิดการผุผัง ไม่สวยงามเรียบร้อย เนื่องจากน้ำยากำจัดปลวกขาดแคลน ได้แก้ปัญหาโดยการนำน้ำมันเครื่องที่ไม่ใช้แล้ว ชโลมส่วนที่เป็นไม้ และ อิฐดิน เพื่อกำจัดปลวก
บ้านที่ทำจากอิฐดิน หากต้องการทาสีก็สามารถทาได้ ซึ่งเป็นสีทาอาคารที่ใช้กันทั่วไป เป็นสีทาภายในเมื่อต้องการทาภายในอาคาร เป็นสีทาภายนอกเมื่อต้องการทาภายนอกอาคาร หรือ ส่วนที่สัมผัสแดด หรือ ฝน แต่อย่างไรก็ตามพื้นที่ประเทศซูดาน หาสีได้ยาก จึงมิได้ทำการทาสี
ในส่วนเรื่องฝนจะทำลายอาคารหรือไม่ ผนังอิฐดิน เมื่อโดนฝน จะกัดเซาะเล็กน้อย ไม่เป็นอันตราย เพราะไม่ได้แช่น้ำ แต่ถ้าโดนแช่น้ำ อิฐดินจะอ่อนรับแรงได้น้อย กรณีโดนน้ำฝนจะเป็นเวลาสั้น โดยที่น้ำฝนจะซึมเข้าไปในเนื้อดินได้น้อยมาก ไม่ถึงเนื้ออิฐดิน ในกรณีที่มีการกัดเซาะ ก็ซ่อมแซมโดยการฉาบเพิ่มผิวที่กัดเซาะได้ โดยใช้ทรายละเอียด น้ำ และ ดินเหนียว ผสมกันแล้วฉาบ หากในกรณีทาสีน้ำพลาสติกภายนอกจะช่วยป้องกันผิวที่ฉาบจากน้ำฝนได้ดีมาก
จะเห็นว่าการก่อสร้างอาคารด้วยอิฐดิน ตามที่กล่าวในข้างต้น ต้องใช้เทคนิคการก่อสร้างพอสมควร เช่นเดียวกับการก่อสร้างบ้านด้วยไม้ หรือ ด้วยคอนกรีต แต่อย่างไรก็ตาม กำลังพลของ ร้อย.ช. ได้ผ่านประสบการณ์การก่อสร้างที่หลากหลาย สามารถประยุกต์ความรู้ และ ประสบการณ์ จนการก่อสร้างสำเร็จไปด้วยดี และ เชื่อมั่นว่าหลายท่านก็อยากจะมีบ้านที่สร้างจากอิฐดินสักหลังหนึ่ง ก็น่าจะลองทำตามดู
เมื่อวันที่ ๑๘ ม.ค. ๕๕ ผบ.กกล. UNAMID (UNAMID Force Commander ) และ ผบ.กกล. UNAMID Sector West (UNAMID Sector West Commander ) พร้อมแขกผู้มีเกียรติจาก UNAMID และประชาชนในพื้นที่ เดินทางมาร่วมพิธีวันกองทัพไทย และ ประดับเหรียญเชิดชูเกียรติสหประชาชาติ (UN Medal ) ให้กับกำลังพลของ กกล.ฉก.๙๘๐ ไทย/ดาร์ฟูร์ ผลัดที่ ๒ และ ได้ให้เกียรติในการเปิดอาคารกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาคารแห่งนี้มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Mud Brick Complex Building ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า อาคารจัดแสดงอิฐดิน หมาย อาคารที่สร้างจากอิฐดิน เพื่อจัดแสดงพระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ผบ.กกล. UNAMID ได้กล่าวแสดงความชื่นชม กกล.ฉก.๙๘๐ ไทย/ดาร์ฟูร์ ผลัดที่ ๒ ที่ได้ปฏิบัติงานด้วยการสร้างความรัก และ ความเข้าใจให้เกิดขึ้นในพื้นที่ มีโครงการช่วยเหลือต่างๆ มากมายที่เป็นประโยชน์ และ แบบอย่างให้หน่วยอื่นๆ ใน UNAMID ได้นำไปต่อยอดขยายผล โดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารบ้านดินได้แสดงถึงความเป็นเลิศด้านงานช่างที่สามารถประยุกต์เข้ากับประชาชน และ พื้นที่ได้เป็นอย่างดี การจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติทำให้ซาบซึ้งพระอัจฉริยะภาพของพระองค์ท่าน และ ทำให้เห็นความจงรักภักดีของประชาชนชาวไทย
ร้อย.ช. ขอเทิดทูนในพระอัจฉริยะภาพแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงห่วงใย และ พัฒนาพสกนิกรปวงชนชาวไทยอยู่เสมอตลอดห้วงรัชกาล แนวทางพระราชทานของพระองค์ท่านสามารถพิสูจน์ว่าใช้ได้จริง และ เห็นผลสำเร็จจริง พระอัจฉริยะภาพของพระองค์เป็นที่ประจักษ์กับนานาชาติ ซึ่งต่างชื่นชม และ สรรเสริญพระองค์ท่านโดยถ้วนหน้า
ร้อย.ช. ขอดำรงไว้ซึ่ง แนวทางพระราชทานขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว น้อมนำเป็นหลักในการปฏิบัติงานด้วยความจงรักภักดี และ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อปวงชนชาวไทย ซึ่งชาวโลกต่างแซ่ซ้องสรรเสริญ ร้อย.ช. ขอยืนเคียงข้างกับหน่วยทหารอื่นๆ และ ประชาชนทั้งชาวไทย และ ต่างประเทศ ในการพัฒนา และ ช่วยเหลือ ขจัดทุกข์ บำรุงสุข ด้วยงานช่างทั้งปวง เพื่อสร้างสันติภาพ และ ความสงบสุขให้กับทุกคน ให้สมดั่งปณิธานว่า เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และ ประชาชน ... ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ท่านผู้อ่านทุกทิวาราตรีกาล เทอญ สวัสดีครับ
:: ชมวีดีทัศน์การก่อสร้างบ้านดิน ::