
ความหมายสำคัญของธงชัยเฉลิมพล มี 3 ประการ คือ
- ผืนธง หมายถึง ชาติ
- บนยอดธงบรรจุพระพุทธรูป หมายถึง พุทธศาสนา
- เส้นพระเจ้าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หมายถึง องค์พระมหากษัตริย์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงกระทำพิธีพระราชทานธงชัยเฉลิมพลให้กับหน่วยทหารต่าง ๆ ทุกกรมกองทหาร ทุกคนระลึกอยู่เสมอว่าธงชัยเฉลิมพลจะปลิวสะบัดอย่างสง่างาม เป็นมิ่งขวัญของพสกนิกรชาวไทยตลอดไป ตราบเท่าที่ประเทศไทยดำรงคงความเป็นเอกราชอยู่ได้ เป็นหน้าที่ของทหารที่จะต้องระวังรักษาธงชัยเฉลิมพลไว้ด้วยความเคารพรักและเทิดทูนไว้อย่างสูงยิ่ง เพราะธงชัยเฉลิมพลย่อมเป็นเกียรติยศของหน่วยทหารนั้น ๆ เมื่อเวลาเข้าสู่สงครามทหารทั้งปวง ต้องพิทักษ์รักษาธงชัยเฉลิมพลของหน่วยตน ไว้ด้วยชีวิต ธงชัยเฉลิมพลจึงเป็นเครื่องนำความองอาจ กล้าหาญ แห่งหมู่ทหารทั้งปวง ให้เข้าต่อสู้ข้าศึกศัตรูให้ได้ชัยชนะกลับมา
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานธงชัยเฉลิมพลประจำกองทหาร ที่ใช้ในสงครามต่าง ๆ และหน่วยทหารที่ได้รับพระราชทานนำไปเป็นมิ่งขวัญแก่เหล่าทหารหาญในสมรภูมินั้น ๆ มีดังนี้ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2461 จำนวน 2 ธง เพื่อใช้ใน สงครามโลกครั้งที่ 1 พระราชทานแก่กองทหารบกรถยนต์ และกองบินทหารบกของไทย ที่ส่งไปร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร ในทวีปยุโรป ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2483 เพื่อใช้ใน สงครามกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นพระราชทานแก่หน่วยทหารไทยใน สงครามเกาหลี และสงครามเวียตนาม

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังได้โปรดเกล้า ฯ พระราชทานธงชัยเฉลิมพลให้กับหน่วยทหารต่าง ๆ ดังนี้
- 25 มกราคม 2496 พระราชทานแก่กองพันทหารบก ที่ยังไม่มีธงชัยเฉลิมพลประจำ รวม 40 กองพัน
- 16 ธันวาคม 2519 พระราชทานให้กับหน่วยทหารในกองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ และ กองทัพอากาศ รวม 21 หน่วย
- 19 มีนาคม 2524 พระราชทานให้กับกองพันในกองทัพบก 15 กองพัน
- 11 กรกฎาคม 2526 พระราชทานให้หน่วยทหาร 35 หน่วย เป็นหน่วยในกองทัพบก 31 หน่วย และหน่วยในกองทัพอากาศ 4 หน่วย
- 19 มีนาคม 2530 พระราชทาน แก่หน่วยทหารรวบ 50 หน่วย
- 8 พฤศจิกายน 2534 พระราชทานแก่หน่วยทหารในกองทัพบก รวม 50 หน่วย
- 8 พฤศจิกายน 2549 พระราชทานให้กับหน่วยทหารในกองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ และ กองทัพอากาศ รวม 89 หน่วย และหน่วยรักษาความปลอดภัย 2 หน่วย รวมทั้งสิ้น 91 หน่วย
 พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล สันนิษฐานว่าได้กระทำครั้งแรกเมื่อ 20 ตุลาคม 2471 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้เสด็จไปเป็นประธาน พิธีสวนสนามครั้งนี้ประกอบด้วย ทหารบก ทหารรักษาวัง และทหารเรือ ที่ประจำอยู่ที่กรุงเทพ ฯ ณ ลานพระราชวังดุสิต
ในปี พ.ศ. 2493 กระทรวงกลาโหมได้สั่งการให้แต่ละเหล่าทัพ แยกกันทำพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล สำหรับกองทัพบกได้จัดให้มีขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน ของทุกปี
ต่อมาในปี พ.ศ. 2500 ได้มีการประกอบพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพลของทหารทั้งสามเหล่าทัพ ในเขตพระนครและธนบุรีร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง และต่อมาก็ได้กำหนดให้หน่วยทหารในแต่ละพื้นที่ จัดทำพิธี ฯ ภายในหน่วย เพื่อลดปัญหาการจราจร
ปัจจุบันพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตน ฯ กระทำในวันที่ 25 มกราคม ของทุกปี เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันกองทัพไทย และในวันดังกล่าวทหารใหม่ได้ฝึกเสร็จสิ้นแล้วตามหลักสูตร และพร้อมที่จะทำการรบได้ นอกจากนั้นยังเป็นวันระลึกถึงวีรกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถี ได้รับชัยชนะต่อข้าศึก
คำปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพลของทหาร
ข้าพเจ้า (ยศ นาย นามสกุล) ขอกระทำสัตย์ปฏิญาณว่า
ข้าพเจ้า จักยอมตาย เพื่ออิสรภาพ และความสงบแห่งประเทศชาติ
ข้าพเจ้า จักรักษาไว้ ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ข้าพเจ้า จักอยู่ในศีลธรรมของศาสนา
ข้าพเจ้า จะเชิดชูและรักษาไว้ ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์เจ้า
ข้าพเจ้า จักเชื่อถือผู้บังคับบัญชา และปฏิบัติตามคำสั่งโดยเคร่งครัด ทั้งจักปกครองแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา โดยยุติธรรม
ข้าพเจ้า จะไม่แพร่งพรายความลับของราชการเป็นอันขาด
ที่มาหอมรดกไทย :: http://www.tv5.co.th/service/mod/heritage/nation/military/flag/index.htm |