กรมการทหารช่าง :: สภาพทางภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ และอากาศ ของ จ.ราชบุรี
กลับสู่หน้าแรก

    สภาพภูมิศาสตร์

        จังหวัดราชบุรี  ตั้งอยู่ในภาคกลางทางทิศตะวันตกของประเทศไทย  ตามการแบ่งเขตทางภูมิศาสตร์  และอยู่ในพื้นที่ภาคกลางด้านตะวันตกตามการแบ่งเขตการปกครองของกระทรวงมหาดไทย  ระหว่าง เส้นรุ้งที่ ๑๓ องศา ๑๐  ลิบดาเหนือ  ถึง ๑๓  องศา  ๔๕ ลิปดาเหนือ  ระหว่างเส้นแวงที่  ๙๙  องศา ๑๐ ลิบดาตะวันออก ถึง ๑๐๐  องศา  ๕  ลิปดาตะวันออก   อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครไปตามถนนสายเพชรเกษมหรือทางหลวงแผ่นดิจหมายเลข ๔
ประมาณ ๑๐๐  กิโลเมตร  มีแม่น้ำแม่กลองซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักสำคัญไหลผ่าน  มีความยาวในเขตจังหวัด  ประมาณ  ๔๕ กิโลเมตร  พื้นที่โดยรวมประมาณ  ๕,๑๙๖,๓๗๒  ตารางกิโลเมตร  หรือ  ๓,๒ ล้านไร่   มีอาณาเขตติดต่อดังนี้


        ทิศเหนือ            ติดต่อกับอำเภอท่าม่วง   อำเภอท่ามะกา  อำเภอเมืองกาญจนบุรี   จังหวัดกาญจนบุรี
        ทิศใต้                ติดต่อกับอำเภอเขาย้อย   จังหวัดเพชรบุรี
        ทิศตะวันออก    ติดต่อกับอำเภอสามพราน   อำเภอเมืองนครปฐม  จังหวัดนครปฐม อำเภอบ้านแพ้ว 
จังหวัดสมุทรสาคร  อำเภอเมืองสมุทรสงคราม  อำเภออัมพวา   จังหวัดสมุทรสาคร
        ทิศตะวันตก      ติดต่อกับตำบลบางยาคู   อำเภอเมตตา   จังหวัดทวาย ประเทศสหภาพพม่า          
                       
มีแนวชายแดนยาวประมาณ  ๗๓  กม.

สภาพภูมิประเทศ

        ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดราชบุรีสามารถแบ่งได้  ๓  ลักษณะ คือ
  
                ๑. พื้นที่ราบสูง  ได้แก่  บริเวณชายแดนที่ติดต่อกับประเทศสหภาพพม่า  มีเทือกเขาตะนาวศรีและภูเขา
น้อยใหญ่สลับซับซ้อนในเขตพื้นที่อำเภอสวนผึ้ง  อำเภอจอมบึง  อำเภอปากท่อ  และกิ่งอำเภอบ้านคา
                ๒.  พื้นที่ราบลุ่ม  ได้แก่บริเวณพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลอง  มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมกับการเพาะปลูก
หรือประกอบอาชีพเกษตรกรรม  ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองราชบุรี  อำเภอโพธาราม  และอำเภอบ้านโป่ง
                ๓.  พื้นที่ราบต่ำ   ได้แก่บริเวณตอนปลายของแม่น้ำแม่กลอง  พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบต่ำมีน้ำขึ้นลงตลอดปี  เพราะอิทธิพลน้ำทะเลหนุนเข้ามาทางปากแม่น้ำแม่กลอง   คลองดำเนินสะดวก และแม่น้ำอ้อม  ด้านสมุทรสงคราม
ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอบางแพ  อำเภอวัดเพลง  และอำเภอดำเนินสะดวก  ซึ่งมีคูคลองเชื่อมโยงถึงกันกว่า
๒๐๐  คลอง

สภาพภูมิอากาศ

            ลักษณะภูมิอากาศจังหวัดราชบุรี  ตั้งอยู่ในเขตทำเลที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ แต่เนื่องจาก มีเทือกเขาตะนาวศรีกั้นอยู่  จึงทำให้ได้รับลมมรสุมจากอินเดียไม่เต็มที่  โดยเฉพาะอำเภอติดต่อกับเทือกเขาตะนาวศรี 
ได้แก่อำเภอสวนผึ้งและบางส่วนของอำเภอจอมบึง   จึงมีปริมาณฝนตกน้อย  ฝนส่วนใหญ่จะถูกพัดเลยไปตกในแถบ
ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง  แม่น้ำแควน้อยและแม่น้ำแควใหญ่    ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย ๑,๐๐๐ - ๑,๒๕๐ มิลลิเมตรต่อปี 
อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ  ๒๗  องศาเซลเซียส  ตามปกติฤดูฝนจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม   ส่วนฤดูหนาวจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม   และสำหรับฟฤดูร้อนจะเริ่มตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน

ทรัพยากรธรรมชาติ
        ป่าไม้
  
                 จังหวัดราชบุรีมีป่าไม้ทั้งสิ้นประมาณ  ๓  ล้านไร่เศษ   ได้ถูกบุกรุกทำลายเรื่อยมาจนถึง  พ.ศ.  ๒๕๒๔  พื้นที่ป่าถูกบุกรุกไปกว่าร้อยละ  ๘๐  ปัจจุบันเหลือพื้นที่ป่าประมาณ  ๑,๒๔๑,๖๓๑.๗๕  ไร่  หรือเท่ากับร้อยละ ๓๘.๒๓  ของพื้นที่ทั้งหมด   พื้นที่ป่าสงวนมีจำนวน  ๗  แห่ง  คือ  ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี  ท้องที่อำเภอสวนผึ้ง  อำเภอจอใบึง  อำเภอปาดท่อ  อำเภอโพธาราม  จังหวัดราชบุรี    ป่าเขาบิน  ท้องที่อำเภอเมืองราชบุรี  อำเภอจอมบึง  จังหวัดราชบุรี    ป่าพุยาง-พุสามซ้อน ท้องที่อำเภอปากท่อ  จังหวัดราชบุรี    ป่าเขากรวด-เขาพลอง ท้องที่อำเภอเมืองราชบุรี  จังหวัดราชบุรี   ป่าหนองกลางเนิน  ท้องที่อำเภอเมืองราชบุรี  จังหวัดราชบุรี   ป่ายางด่านทับตะโก ท้องที่อำเภอจอมบึง  จังหวัดราชบุรี และป่าซำสาม  ท้องที่อำเภอบ้านโป่ง  จังหวัดราชบุรี  เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า  มีจำนวน  ๑  แห่ง 
     แร่ธาต
  
                 จังหวัดราชบุรีมีแร่สำคัญหลายชนิด  ส่วนใหญ่มีอยู่ในพื้นที่อำเภอสวนผึ้งแถบเทือกเขาตะนาวศรี  อำเภอปากท่อ  และอำเภอเมืองราชบุรี  ชนิดแร่ที่สำคัญได้แก่  แร่ดีบุก  แร่ฟลูออไรต์  แร่ควอร์ตซ์  แร่เฟลต์สปาร์  แร่ฟอสเฟต  นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุ  หิน  และดินที่มีค่าอีกมาก  เช่น
                -  ทราย  เดิมมีอยู่ทั่วไปในลำน้ำแม่กลองแถบท้องที่อำเภอเมืองราชบุรี  อำเภอบ้านโป่ง  และอำเภอโพธาราม
                - หินปูน  มีมากที่เขาถ้ำพระ  เขาอีซ่าน  เขากลอง  อำเภอปากท่อ  เขางู  อำเภอเมืองราชบุรี  และตำบลเขาขลุง  อำเภอบ้านโป่ง
                -  ดินลูกรัง   มีมากที่บริเวณเขากรวด  และบ้านหนองกระทุ่ม  อำเภอเมืองราชบุรี  ตำบลเขาชะงุ้ม  ตำบลธรรมเสน  อำเภอโพธาราม  และตำบลเขาขลุง  อำเภอบ้านโป่ง
                -  ดินเหนียว  มีมากที่ตำบลหลุมดิน  อำเภอเมืองราชบุรี  ใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการปั้นโอ่ง  และผลิตภัณฑ์ดินเผาประเภท    ต่าง ๆ
                -  หินประดับ  ได้แก่  หินทราย  หินแกรนิต  หินอ่อน  หินปูน  หินกรวด  มีทั้งขนาดเล็ก  และขนาดใหญ่  เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  "หินโชว์"  หินพวกนี้บางส่วนได้จากภูเขาแถบอำเภอเมืองราชบุรี  แต่ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยมีแล้ว ต้องไปหามาจากที่อื่น  เช่น  หินกรวด  ได้จากแหล่งเหมืองพลอยในจังหวัดกาญจนบุรี  และแถบแม่น้ำโขงในภาคอีสาน
       สัตว์นานาชนิด
  
                 สัตว์ในจังหวัดราชบุรีจำแนกได้เป็น  ๓  ประเภท  คือ
        ประเภทที่  ๑   สัตว์เลี้ยง  เช่น  สุกร  โค โคนม  ไก่  ฯลฯ   
        ประเภทที่  ๒   ทรัพยากรสัตว์น้ำที่สำคัญในแม่น้ำแม่กลองส่วนที่ผ่านจังหวัดราชบุรี   ตลอดจนคลอง ดำเนินสะดวก  ได้แก่  ปลายี่สก  ในอดีตเมื่อราว  ๒๐  ปีก่อน แม่น้ำแม่กลองช่วงนี้มีปลายี่สกมากที่สุดแก่งหนึ่งของ ประเทศไทยรองลงมาจากแม่น้ำโขง  แม่น้ำน่าน  แม่น้ำแควน้อย  แม่น้ำแควใหญ่ และแม่น้ำแม่กลองช่วงที่ไหลผ่าน จังหวัดกาญจนบุรี  ปัจจุบันสภาพของแม่น้ำแม่กลองเสื่อมโทรมลง ปลายี่สกที่เคยมีอยู่เป็นจำนวนมากจึงลดลงจนหา ได้ยากแล้วในปัจจุบัน
        ประเภทที่  ๓  สัตว์ป่า  จังหวัดราชบุรีเดิมมีสัตว์ป่านานาชนิด  ทั้งเสือ  กวาง  กระทิง  กระซู่ ช้าง  ไก่ฟ้า   ฯลฯ  อาศัยอยู่ตามป่าโปร่งและป่าทึบบริเวณเทือกเขาตะนาวศรี  ปัจจุบันหาดูได้ยาก  เนื่องจากมีการล่ากันจนเกือบสูญพันธุ์  จนต้องมีการควบคุมและขยายพันธู์สัตว์เพื่อเพิ่มปริมาณและอนุรักษ์ให้บุคคลชั้นหลังได้มีโอกาสสัมผัสและศึกษาชีวิต
ธรรมชาติของสัตว์ป่าเหล่านั้น  โดยจัดตั้งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า  จำนวน  ๑  แห่ง  คือ  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำ
ภาชีในท้องที่อำเภอสวนผึ้ง  จำนวน  ๓๐๕,๘๒๐  ไร่  และยังมีเขตห้ามล่าสัตว์ป่า  อีก ๓  แห่ง  คือ
                    ๑.  เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาประทับช้าง  ในเขตอำเภอเมืองราชบุรีและอำเภอจอมบึง  เนื้อที่ ๑,๒๖๘ ไร่
                    ๒.  เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำระฆังและเขาพระนอน  ในเขตอำเภอเมืองราชบุรี  เนื้อที่  ๑๐๖  ไร่
                    ๓.  เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำค้างคาว เขาช่องพราน  และวัดเขาช่องพราน  ในเขตอำเภอโพธาราม เนื้อที่  ๗๗ ไร่
                        นอกจากนี้ยังมีศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าเขาประทับช้างในเขตอำเภอจอจอมบึง  เนื้อที่ ๒,๕๐๐ ไร่

ยินดีต้อนรับสู่ " บ้านทหารช่าง "
ยินดีต้อนรับสู่ " บ้านทหารช่าง "
ยินดีต้อนรับสู่ " บ้านทหารช่าง "
ยินดีต้อนรับสู่ " บ้านทหารช่าง "

 

ยินดีต้อนรับสู่ " บ้านทหารช่าง "
ยินดีต้อนรับสู่ " บ้านทหารช่าง "
ยินดีต้อนรับสู่ " บ้านทหารช่าง "

 

ยินดีต้อนรับสู่ " บ้านทหารช่าง "
ยินดีต้อนรับสู่ " บ้านทหารช่าง "
.......................................................................................................................................................................................................................................................................................
ราชบุรี :: เมืองแห่งพระราชา ::
ประวัติความเป็นมาของหน่วยทหารช่าง
พระบิดาแห่ง " ทหารช่าง "
ประวัติค่ายภาณุรังษี
อดีตผู้บังคับบัญชา : กรมการทหารช่าง :