มุมมองทางประวัติศาสตร์    โดย  ::  พ.อ.เกรียงไกร    แข็งแรง

1.ประวัติศาสตร์บ่งบอกตัวตนของเราในอดีต ปัจจุบันและบ่งชี้ถึงอนาคต

                จะมีทหารผู้ใดทราบหรือเชื่อหรือไม่ว่า ในปี พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(ร. 5 )ทรงมีวิสัยทัศน์สำหรับโครงสร้างของกองทัพบกสยาม ผ่านการปฏิรูประบบต่างๆรวมถึงกิจการทางทหาร โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช(พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช)ด้วยการวางโครงสร้างกำลังกองทัพไว้ถึง 10 กองพลทั่วภูมิภาคของรัฐสยามภายในเวลา 10 ปี(พ.ศ. 2444-2453 ) ซึ่งข้อเท็จจริงนั้น ร. 5 ทรงเริ่มปฏิรูปกิจการทหารนับแต่ทรงขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2411 เพื่อให้เกิดการทหารอาชีพแยกออกจากพลเรือนอย่างชัดเจน นับแต่การถือกำเนิดของทหารมหาดเล็กไล่กามาจนถึงทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ การปฏิรูปรูปแบบการปกครองจากระบบจตุสดมภ์มาสู่เทศาภิบาล พ.ศ. 2435 ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางทหารอีกด้วย การเลิกระบบไพร่ทาสแล้วใช้ พรบ.เกณฑ์ทหาร ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448 ) เป็นสัญลักษณ์ของการเกิดทหารอาชีพที่มีการฝึกหัด มีความชำนาญในวิชาชีพ มีอาวุธยุทโธปกรณ์และเครื่องแบบที่ทันสมัย มีเงินตอบแทน เหล่าทหารช่างเป็นหนึ่งในเหล่าทหารบกที่ถือกำเนิดในฐานะทหารอาชีพมาพร้อมๆกับยุคเริ่มต้นแห่งการปฏิรูปกิจการทหาร เราลองมาดูกันว่าจากมุมมองทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวซึ่งพบว่ามีการก่อกำเนิด การขยาย การยุบหน่วย การแปรสภาพและการปรับโครงสร้างมาโดยตลอดนั้น เหล่าทหารช่างมีฐานะและบทบาทเช่นใดในกองทัพ ? รวมถึงมีแนวโน้มเช่นใดในอนาคต ?
                
อนึ่ง การวิเคราะห์โดยใช้มุมมองทางประวัติศาสตร์นั้น มีข้อพิจารณาบางประการอันสมควรทราบไว้ได้แก่ ประวัติศาสตร์ทางทหารนั้นย่อมได้รับอิทธิพลจากประวัติศาสตร์ใหญ่ของชาติในมิติต่างๆทั้งสังคม เศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งรวมถึงประวัติศาสตร์โลกและภูมิภาคด้วย ดังเช่นการเกิดภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจทั่วโลกในทศวรรษ 1930 (พ.ศ. 2470-2480 โดยประมาณ : ผู้เขียน) อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเวลาต่อมานั้น ประเทศสยามก็พลอยได้รับผลกระทบดังกล่าวส่งผลให้เกิดการปรับโครงสร้างหน่วยทหารในปีพ.ศ. 2470 และ พ.ศ. 2475 (ก่อนการเปลี่ยนแปลงทางการปกครอง)ส่วนการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน 24 มิ.ย. 2475 นั้นก็ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้างทางการทหาร กระทั่งเครื่องแต่งกายเหล่านี้เป็นต้น ประเด็นต่อมา คือ การถกเถียงในเรื่องห้วงเวลา พึงทราบว่า เดิมทีเดียวนั้น ประเพณีของไทยนับเอาเดือนอ้ายในการเริ่มศักราชใหม่ ต่อมา ร. 5 ทรงกำหนดให้ถือเอาวันที่ 1 เม.ย. เป็นวันขึ้นปีใหม่ เริ่มแต่ พ.ศ. 2432 จนถึง พ.ศ. 2482 จึงเริ่มนับเอาวันที่ 1 ม.ค. เป็นวันขึ้นปีใหม่มาจนทุกวันนี้ ในขณะที่ปีศักราชเดิมทีเดียวนั้นใช้จุลศักราช(จ.ศ.)จนถึงกลางยุคของ ร. 5 ก็ทรงให้ใช้ ร.ศ. เป็นสำคัญ กระทั่งเปลี่ยนกลับมาใช้เป็น พ.ศ. ในสมัยพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(ร. 6 ) ดังนั้นการถกเถียงเล็กๆน้อยๆในเรื่องความแตกต่างของห้วงเวลาสำหรับบทความนี้จึงไม่นับเอาเป็นนัยสำคัญ ประการสุดท้าย การอ้างอิงจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ซึ่งมาจากหลายแหล่งอันรวมเอาคำบอกเล่า ตำนาน กระทั่งพงศาวดารเข้าไปด้วย เหล่านี้ต้องทำความเข้าใจว่าอาจมีความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้บ้าง อันเป็นผลจากความหลงลืม สะเพร่ารวมถึงอคติหรือความเข้าใจผิดของผู้บันทึก ยกตัวอย่างเช่น ประวัติเดิมของกองพันทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ ฉบับ พ.ศ. 2506 กล่าวว่าเดิมมีนามหน่วยในสมัย ร. 5 ว่า ” กรมช่าง ” ครั้นเมื่อสอบทานกับหลักฐานที่เชื่อถือได้ พบว่าโดยข้อเท็จจริง ในปี พ.ศ. 2430 สมัยร. 5 มีการปรับโครงสร้างกองทัพเป็น 7 กรมทหารบกและ 2 กรมทหารเรือ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ” กรมช้าง ” มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องช้างโดยเฉาะและต่อมาถูกยุบหน่วยไปในที่สุด โดยที่ไม่ปรากฏว่ามีกรมช่างแต่อย่างใด เป็นต้น

                จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ทรงเป็นพระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกลุ่มแรกที่ทรงไปศึกษาต่อในทวีปยุโรป ( ประเทศเดนมาร์ก ) เมื่อกลับมาประเทศไทยพ.ศ. 2440 ทรงเข้ารับราชการในกองทัพบกและกระทรวงกลาโหมในตำแหน่งต่าง ๆ และทรงเป็นจอมพลพระองค์แรกของกองทัพบกสยาม ทรงเป็นกำลังหลักในการปฏิรูปกองทัพ พ.ศ. 2444 ทรงเป็นต้นราชสกุล " จิรประวัติ "

                การปฏิรูปกิจการทหารของไทยเริ่มแต่การทรงครองราชย์ของ ร. 5 ด้วยการก่อกำเนิดทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์เป็นต้นมา ในภาพ เครื่องแบบทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ใช้อยู่ในระหว่างปี พ.ศ. 2413-2414 ภาพนี้จึงน่าจะถ่ายในห้วงดังกล่าว แต่จะในโอกาสใดไม่แจ้ง จากภาพ นายทหารคนซ้ายสุดมียศเป็นนายดาบ เพราะติดบั้ง 3 บั้งที่แขนเสื้อซ้ายและขัดกระบี่ นายทหารคนที่ 2 ยศนายสิบเอก เป็นพลแตร (ถือแตร) ส่วนที่เหลือเป็นพลทหาร (ที่มา : ตำนานทหารมหาดเล็ก )

                ในการอ้างอิงเอกสารสำหรับบทความนี้ มีเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกิจการทหารที่ใช้เป็นหลัก ได้แก่ ตำนานทหารมหาดเล็ก เขียนโดย นาย พันเอก วรการบัญชา ประมาณปี พ.ศ. 2460 แต่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2496 สมุดราชบุรี ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2468 มีเนื้อหาเกี่ยวกับมณฑลราชบุรีในยุคนั้นในทุกมิติ ตีพิมพ์โดยสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ หนังสือตำแหน่ง หน้าที่ บาญชีของเจ้าหน้าที่ ในเขตพระนคร ตีพิมพ์ครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2426 โดยสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ปริญญานิพนธ์มหาบัณฑิต ของ ภารดี มหาขันธ์ เรื่อง “ การปฏิรูปการทหารในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ” ปีพ.ศ. 2518 หนังสือประวัติกองพันทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ ฉบับสอบทาน พ.ศ. 2544 ราชกิจจานุเบกษาที่เกี่ยวข้องกับระเบียบคำสั่งทางทหาร และทำเนียบนายทหารสัญญาบัตรแต่อดีต จากกองประวัติศาสตร์ทหาร กรมยุทธการทหารบก เป็นต้น ส่วนข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของหน่วยทหารต่างๆนั้นก็นับว่าเป็นประโยชน์ แต่ยังมีความจำเป็นต้องสอบทานความถูกต้อง ทั้งตัวอักษร เนื้อหาหรือคำสั่งบางอย่าง ดังเช่นกรณีการบันทึกเอา ” กรมช้าง ” เป็น ” กรมช่าง ” หรือกระทั่งตราสัญลักษณ์ของกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์และกองพันทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ในระยะแรกๆ (พ.ศ. 2498 ) ซึ่งกำหนดเป็นสัญลักษณ์ “ ช้าง ฉัตร ช่อ(ชัยพฤกษ์) ” นั้น ความเข้าใจผิดของหน่วยทำให้กำหนดรูปแบบของฉัตรซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์เจ้าบุรฉัตรเพี้ยนเป็น 7 ชั้นโดยที่ ข้อเท็จจริง เป็นฉัตร 5 ชั้น เหล่านี้ เป็นต้น นี่ก็อาจบ่งชี้ให้เราเข้าใจได้เช่นกันว่า ข้อเท็จจริงวันนี้อาจเปลี่ยนไปเมื่อมีหลักฐานที่หนักแน่นกว่ามายืนยัน ประวัติศาสตร์จำเป็นต้องมีการสอบทาน ฉันใดก็ตามแม้นผู้อ่านท่านใดหากมีหลักฐาน เพิ่มเติมทั้งในแง่สนับสนุนหรือขัดแย้งก็ย่อมเป็นการสมควรต่อการถกเถียงเพื่อความถูกต้องสมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป

2.กำเนิดทหารช่าง : กำเนิดกองทหารอินยิเนีย

                เอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของเหล่าทหารช่าง ระบุตรงกันว่า ใน 23 มิ.ย. 2418 กองทหารอินยิเนียได้อุบัติขึ้น แต่ดูเหมือนว่าภารกิจของกองทหารอินยิเนียจะถูกระบุ ไว้แตกต่างกันในบางแหล่ง ดังเช่นเอกสารของกรมการทหารช่าง (http://www.engrdept.com )ระบุว่าทำหน้าที่วางเสาโทรเลขจากกรุงเทพ - สมุทรปราการ ซึ่งรับผิดชอบโดยกรมพระกลาโหม แต่ครั้นตรวจสอบจากหนังสือตำนานทหารมหาดเล็ก พบว่า

สมุดราชบุรีและหนังสือประวัติกองพันทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ ฉบับสอบทาน

                “ ครั้นถึงปี พ.ศ. 2418 โปรดเกล้าฯให้คัดเลือกบรรดาพลทหารมหาดเล็กที่เป็นช่าง จัดตั้งกองทหารอินยิเนีย โปรดเกล้าฯให้พระมหาโยธา(นกแก้ว คชเสนี)แต่เมื่อยังเป็นนายนกแก้ว ทหารมหาดเล็กนั้นเป็นหลวงสโมสรพลการ ผู้บังคับกอง มียศทหารเป็นนายร้อยโท....ทหารมหาดเล็กคือ นายพลโท พระสโมสรสรรพการ(ทัด ศิริสัมพันธุ์)เป็นนายสิบนำทางเรียกว่า ไปโอเนียร์ซายันต์ 1 ...พลทหาร 60 สำหรับกระทำการช่างในกรมนี้ ครั้นเมื่อโปรดเกล้าฯให้จัดหอคองคอเดีย(คือศาลาสหทัยสมาคมในพระบรมมหาราชวังสมัยนี้ : ผู้เขียน)ทหารช่างพวกนี้ไม่ได้ทำหน้าที่ทำการแต่เฉพาะวิชาการทหารในกระบวนยุทธวิธี สรรพการช่างเบ็ดเตล็ดสำหรับกรมก็ได้กระทำทั้งสิ้น เช่น เครื่องสาตราวุธยุทธภัณฑ์ และอาภรณ์เบ็ดเสร็จที่ควรกระทำได้ มีการแก้ไขอาวุธ และทำหมวก ทำเข็มขัด คันชีพ เป็นต้น... ”
                
เมื่อปี พ.ศ. 2419 ทหารช่างมีหน้าที่เข้าเวรถวายความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ส่วนรายละเอียดความรับผิดชอบทางการช่างนั้น กล่าวว่า “ มีการฝึกหัดในวิชาช่างทหารตามกระบวนยุทธวิธี และมีหน้าที่ทำการบางอย่าง เช่น ตรวจการดูแลทำทาง ทำสะพาน ทำค่ายและที่อยู่ เป็นต้น ” ส่วนการโทรเลขโทรศัพท์นั้น ชั้นแรกทหารช่างพวกนี้ไปตรวจทำเพราะมีหน้าที่ต้องทำแผนที่ให้กับหน่วยทหาร
                
จึงพอสรุปได้ว่าภารกิจแรกๆของกองทหารอินยิเนีย คือ งานช่างในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เช่น การซ่อมแซมสาตราภัณฑ์ และงานช่างสนามในหน่วยทหาร งานดูแลหอคองคอเดีย งานแผนที่และเข้าเวรถวายความปลอดภัย อนึ่งการตรวจสอบข้อมูลความเป็นมาของวันที่ 23 มิ.ย. พ.ศ. 2418 พบว่า มีเอกสารสองฉบับที่ยืนยันความเป็นมาดังกล่าวคือ วิทยุ จาก กช.ที่ 3663/03 ลง 29 เม.ย. 03 ขอให้ ยก.ทบ.ตรวจสอบความเป็นมาของ กองทหารช่าง ที่เรียกว่า อินยิเนีย ซึ่งเอกสาร ตอบกลับของ ยก.ทบ.เป็นบันทึกข้อความที่ 354/03 ลง 31 พ.ค. 03 ระบุว่า หลักฐานการจัดตั้งกองทหารอินยิเนียโดยตรงยังค้นไม่พบ(ข้อเท็จจริงมีกล่าวไว้ในตำนานทหารมหาดเล็ก ตีพิมพ์ พ.ศ. 2496: ผู้เขียน) แต่ได้ค้นคำสั่งที่สมุหพระกลาโหม ให้กองอินยิเนียออกไปปฏิบัติงานตรวจทาง กรุยและปักเสาโทรเลข ลงวันพุธ เดือน 7 แรม 5 ค่ำ จ.ศ. 1237 ปีกุนจึงสันนิษฐานว่าการตั้งกองอินยิเนีย เมื่อ พ.ศ. 2418 นั้นมีความมุ่งหมายขั้นแรกเพื่อให้เป็นหน่วยวางสายโทรเลข โดย พ.อ.ดำเนิน เลขะกุล หก.ประวัติศาสตร์ ยก.ทบ.ขณะนั้น เชื่อว่า คำว่า “ กองอินยิเนีย ” นั้นเห็นจะลอกแบบมาจากหน่วยอินยิเนียของอังกฤษที่ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อได้เข้ามาขอสัมปทานวางสายโทรเลขระหว่างพระนครกับสมุทรปราการ และได้เสนอเอาวันที่หน่วยได้รับคำสั่งให้ไปทำงานในสนามครั้งแรก คือวันดังกล่าวซึ่งตรงกับวันที่ 23 มิ.ย. พ.ศ. 2418 เป็นวันก่อตั้ง ต่อมา พ.อ.กาจบัณฑิต โชติกญาณ รรก.จก.กช.ในขณะนั้นได้อนุมัติ เมื่อ 27 มี.ค. 2504
                
จากเอกสารดังกล่าว พอจะสรุปได้ว่า มีที่มาจากคำสั่งสมุหพระกลาโหมที่ได้สั่งการให้กองอินยิเนีย(โปรดสังเกตว่ามิใช่กองทหารอินยิเนียดังจะได้พิเคราะห์ต่อไป : ผู้เขียน)ไปตรวจทาง กรุยและปักเสาโทรเลข(แต่ในหัวข้อต่อมากลับระบุว่าวางสายโทรเลข : ผู้เขียน)และคำว่ากองอินยิเนีย น่าจะมาจากหน่วยอินยิเนียของชาวอังกฤษที่เข้ามาขอสัมปทานวางสายโทรเลขพระนครสมุทรปราการ ซึ่งทำให้เราทราบว่า วันที่ 23 มิ.ย. 2418 มิใช่วันก่อตั้งกองทหารอินยิเนีย แต่ถือเป็นการสมมติ ซึ่งก็มิใช่เรื่องแปลกแต่ประการใด เนื่องด้วยแม้กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็ก รักษาพระองค์ก็สมมติเอาวันที่ 11 พ.ย.เป็นวันราชวัลลภ
                
การพิเคราะห์ดังกล่าวชวนให้ขบคิดถึงประเด็นข้อมูล ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าน่าจะเกิดความคลาดเคลื่อนด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
                
ประการแรก กองทหารอินยิเนียเป็นหน่วยขึ้นตรงของกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ซึ่งขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ มิใช่สมุหพระกลาโหม อนึ่งพึงทราบว่าสมุหพระกลาโหมแม้นมีความรับผิดชอบฝ่ายทหารก็จริงอยู่ แต่ในฐานะหนึ่งนั้นก็มีความรับผิดชอบหัวเมืองฝ่ายใต้ซึ่งรวมเอาสมุทรปราการเข้าไปด้วย(ส่วนสมุหนายกก็ยังมีความรับผิดชอบหัวเมืองฝ่ายเหนือและกรมท่ารับผิดชอบหัวเมืองชายฝั่ง ความรับผิดชอบนี้เปลี่ยนแปลงไปเมื่อมีการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นในปี พ.ศ. 2435 : ผู้เขียน ) กองทหารอินยิเนียจึงมิได้มีความสัมพันธ์ทางการบังคับบัญชากับสมุหพระกลาโหม ประการต่อมา หากผู้อ่านสังเกตการณ์ใช้ถ้อยคำในยุคการปฏิรูปสมัย ร. 5 จะพบถ้อยคำทับศัพท์ที่ใช้ในภาษาอังกฤษจำนวนมาก เช่น ไปโอเนียร์ซายันต์( pioneer sergeant: พลช่างโยธาสนาม) คอลอแนล( colonel: นายพันเอก) มิวเซียม( museum: พิพิธภัณฑ์) ในขณะที่คำว่า “ อินยิเนีย( engineer ) ” นั้นมีความหมายสองนัยคือ ในทางทหารหมายถึงทหารช่าง ในขณะที่ ทางพลเรือน หมายถึง วิศวกรรมหรือวิศวกร เรื่องนี้จะขอยกตัวอย่างจากหนังสือ “ ตำแหน่งหน้าที่ บาญชีของเจ้าหน้าที่ในเขตพระนคร ” ระบุทำเนียบเจ้าหน้าที่ในปี พ.ศ. 2426 จะพบคำว่า อินยิเนีย ในกรมทหารมหาดเล็ก คือ หลวงสโมสรสรรพการ(ทัด ศิริสัมพันธุ์) ในขณะที่มีเจ้าหน้าที่อินยิเนียปรากฏอยู่ในเอกสารดังกล่าวเช่นกัน แต่เป็นชาวฝรั่ง ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่า มีความคลาดเคลื่อนในความหมายของคำว่า “ อินยิเนีย ” ก็เป็นได้ นอกจากนี้ เมื่อสอบทานกับประวัติของกรมไปรษณีย์โทรเลขจะไม่กล่าวถึงหรือให้ความสำคัญกับเหตุการณ์การวางเสาโทรเลขดังกล่าวเลย
                
ประการสุดท้ายหากจะนับเอาการวางเสาโทรเลขในคราวนั้นเป็นกำเนิดของกองทหารก็จะพบว่าเป็นกิจการของทหารช่างสัญญา(ต่อมามีผู้เข้าใจคลาดเคลื่อนเป็นช่างสัญญาณก็มี เรื่องนี้มีบันทึกและอธิบายไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พล.อ. จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ปี พ.ศ. 2526 อนึ่ง กรมการทหารช่างก็บันทึกนามสกุลคลาดเคลื่อนเป็นเสรีเรืองฤทธิ์ : ผู้เขียน)และจะถือเป็นต้นกำเนิดของทหารสื่อสารมิใช่ทหารช่างแต่อย่างใด อนึ่งเล่าแม้นกระทั่งประวัติกรมการทหารสื่อสารก็มิได้ถือเอาเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามการค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อสอบทานความถูกต้องก็นับว่าเป็นสิ่งท้าทายบรรดาเหล่าทหารช่างอยู่มิใช่หรือ?

                นายทหารช่างยศร้อยเอกสังกัดยุทธโยธา ในห้วงปี พ.ศ. 2435 กองทหารอินยิเนียแปรสภาพเป็นกองยุทธโยธากรมยุทธภัณฑ์ ในกรมยุทธนาธิการ
( ที่มา : ประวัติ ช.พัน. 1 รอ.ฉบับสอบทาน 2544 )

                สำหรับกองทหารอินยิเนียนี้ ในคราวต่อมาเมื่อมีการปรับโครงสร้างในปี พ.ศ. 2430 เป็น 7 กรมทหารบก 2 กรมทหารเรือ * ทหารช่างอยู่ในสังกัดกรมทหารมหาดเล็ก และถูกแปรสภาพเป็นกองยุทธโยธา รวมอยู่ในหน้าที่เจ้าพนักงานยุทธภัณฑ์ กรมยุทธนาธิการบ้าง และ ทหารราบสรรพการยุทธภัณฑ์บ้าง อนึ่ง เอกสารประวัติศาสตร์ของกรมยุทธโยธาทหารบก ก็มีความสอดคล้องกับกำเนิดกองทหารอินยิเนีย จนถึงห้วงเวลานี้
                
ในปี พ.ศ. 2444 มีการปรับโครงสร้างทางกิจการทหารอีกครั้งหนึ่ง อันเป็นผลมาจากโครงสร้างเดิมไม่ตอบสนองด้านความมั่นคงที่ผ่านมาเท่าที่ควร เช่น กรณีของกบฏผีบ้าผีบุญภาคอีสาน และ กบฏเงี้ยว ในภาคเหนือ ตลอดจนกบฏฮ่อในภาคอีสานเหนือ และล้านช้าง จึงมีการจัดตั้งกองบัญชาการมณฑลทหารบกขึ้น ตามมณฑลต่างๆ ทั่วภูมิภาค ในโครงสร้างกองบัญชาการนั้นจัดให้มีกองทหารช่างขึ้นกองหนึ่ง โดยที่บางคราวก็ยังคงเรียกกองทหาร อินยิเนียอยู่เช่นเดิม ดังเช่น เมื่อพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร ทรงสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ แล้วทรงรับยศเป็นนายร้อยตรี นอกกองประจำการ กองร้อยปี 2 กองทหารอินยิเนีย (ในโครงสร้างเรียกกองทหารช่างที่ 1) กรมบัญชาการทหารบก มณฑลกรุงเทพฯ ( 6 พ.ย.2444 , อ้างจากหนังสือบุรฉัตรรำลึกของการรถไฟฯ) ครั้นในปี พ.ศ.2446 ขยายเป็นกรมทหารช่างที่ 1 แต่โดยที่ติดขัดเรื่องงบประมาณ จึงยังคงมี นขต.เพียง 2 กองร้อย โดย พ.ต.หลวงรุดรณชัย เป็นผู้บังคับการ ในห้วงนี้เอกสารบางส่วนยังคงเรียกขานนามหน่วยว่า “ กองทหารช่างที่ 1 ”
                 
พ.ศ.2448 กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ทูลเกล้าฯ ถวายความเห็นจัดทหารในมณฑลทหารบกกรุงเทพฯ ออกเป็น 3 กองพล และโดยที่แต่ละกองพลจะมีกองทหารช่างเป็น นขต.อยู่กองพลละ1 กอง ซึ่งกองพลที่ 1, 2 มีที่ตั้งอยู่ในพระนคร ส่วนกองพลที่ 3 ตั้งอยู่ที่มณฑลกรุงเก่า จึงเกิดแนวคิดการรวมเอากองทหารช่างทั้ง 3 เข้าเป็น “ กรมทหารช่างที่ 1 (รักษาพระองค์) ” ในปี พ.ศ.24 4 9 โดยขึ้นตรงต่อกองพลที่ 1 (รักษาพระองค์) จะเห็นได้ว่ากองพันทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ และกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ มีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันกันมาตั้งแต่บัดนั้นจนถึงปี พ.ศ.2509
                
ส่วนการถือกำเนิดของ กรมการทหารช่าง นั้น มีเหตุเป็นมาอย่างใด ? เรื่องนี้หากยึดถือตามหลักการกองทัพบก * อาจถือได้ว่ามี 2 กรณี คือ การเกิดขึ้นของตำแหน่งผู้บังคับหน่วย หรือ การเกิดขึ้นของหน่วยที่มีพัฒนาการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น ในแง่นี้หากจะกำหนดเอกสารที่ พันเอก พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร ทรงดำรงตำแหน่งจเรทหารช่าง ใน 21 ก.ย.2449 ก็อาจถือเอาเป็นวันสถาปนากรมการทหารช่างก็เป็นได้ ในอีกกรณีหนึ่งคือการจัดตั้งแผนกจเรทหารช่าง ขึ้นในปี พ.ศ.2453 ซึ่งยังรวมถึงการจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดการช่างทหาร ขึ้นตรงต่อแผนกจเรทหารช่าง ส่วนวันที่จัดตั้งนั้นคงต้องสอบทานอีกต่อไป
                
อย่างไรก็ดี จากที่กล่าวมาแล้วยังคงยืนยันข้อมูลหลัก ๆ เดิมที่กล่าวถึงการก่อกำเนิดของเหล่าทหารช่าง ในนามหน่วย “ กองทหารอินยิเนีย ” แม้จะมีรายละเอียดในเรื่องภารกิจของหน่วยที่แตกต่างกันไปบ้างก็ตาม เหล่าทหารช่างทุกนายยังคงไว้ซึ่งความภาคภูมิใจในเกียรติประวัติความเป็นมาของบรรพชนเหล่าทหารช่างในอดีต ซึ่งถือกำเนิดมาพร้อมกับยุคแห่งการปฏิรูปกิจการทหาร และยังคงนับเอาวันที่ 23 มิ.ย. ของทุกปี เป็นวันทหารช่างได้อย่างภาคภูมิใจ
                
ที่กล่าวมาจึงเป็นเรื่องราวที่ชวนให้ผู้อ่านร่วมพิเคราะห์ ถกเถียง ในเรื่องประวัติความเป็นมาของเหล่าทหารช่าง ส่วนเรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น บิดาแห่งเหล่าทหารช่าง ที่มาแห่งนามค่ายภาณุรังษี สีประจำเหล่า เครื่องหมายเหล่า เครื่องหมายกรมการทหารช่าง หรือ ที่มาของคำว่า “ วายามะ ” คงต้องกล่าวถึงในเล่มต่อไป

.......................................................................

    หน้าต่อไป...  

 

ที่มาเอกสารอ้างอิง ::   * นิตยสารทหารช่าง ปีที่ 43   ฉบับที่ 1    หน้าที่ 30 - 36
                                    * นิตยสารทหารช่าง ปีที่ 43   ฉบับที่ 2    หน้าที่ 12 - 16
                                    * นิตยสารทหารช่าง ปีที่ 43   ฉบับที่ 3    หน้าที่ 26 - 29

 

 
 
  
กรมการทหารช่าง          ค่ายภาณุรังษี
ต.โคกหม้อ  อ.เมือง  จ.ราชบุรี  70000
จัดทำ/เผยแพร่โดย ส่วนปฏิบัติการระบบเครือข่ายฯ  ศทท.กช.
webmaster  ::  kittikraimanee@gmail.com   ทบ. 53150